ทำความรู้จัก “ระยะเพสลาด” ช่วงเวลาทรงพลัง “ใบกัญชาสด”

by ThaiQuote, 6 เมษายน 2564

ใดๆ ล้วน “กัญชา” ทำความรู้จัก “เพสลาด” ระยะเหมาะสม ทรงพลังที่สุด ก่อน “ปรุงอาหาร-ทำยา” ของ “ใบกัญชาสด”

ช่วงนี้ “เพสลาด” กำลังกลายเป็นคำวงการอาหารและเครื่องมือ พูดถึงเกี่ยวกับ “ใบกัญชาสด” ที่มีราคาขายถึง 15,000 บาทต่อกิโลกรัม “เพสลาด” คืออะไร เรารู้จัก “ใบเพสลาด” ว่า “ใบพัด” หรือที่ฝรั่ง รู้จักในชื่อ “Fan leaves”

“เพสลาด” (เพ-สะ-หลาด) หมายถึง ใบไม่อ่อนไม่แก่ ซึ่งมักใช้กับการเรียกใบไม้ที่นำมาทำอาหาร เช่น ใบพูล ใบทองหลาง โดยในที่นี้ เราจะใช้เรียกใบกัญชา ที่ไม่แก่จัด และไม่อ่อนเกินไป

นพ.สมนึก ศิริพานทอง กรรมการสมาคมเซลล์บำบัดไทย ได้กล่าวไว้ในเวทีเสวนาวิชาการ การใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์ว่า ในคัมภีร์ตัวยา เรียก กัญชาที่มี 7 แฉกไม่อ่อนไม่แก่ ว่า “ใบเพสลาด” ถือเป็นยา ซึ่งระบุไว้ว่ามีการใช้ “กัญชาสด” ในตำรายาไทยถึง 10 กว่าตำรับ โดยระบุการใช้กัญชา พันธุ์ “หางกระรอกภูพาน” หรือที่ทั่วโลกเรียกว่า “Thai Stick” เป็นตัวยารักษามะเร็ง

รักษาโรคเบาหวาน เมื่อ “กัญชา” เริ่มเข้าสู่ระยะออกดอก เป็นดอกโต แต่ยังไม่ใช่ ดอกแก่ หรือที่เรียกว่า “ไส้ปลาช่อน” ให้เก็บใบที่อยู่ในส่วนของลำต้นครึ่งล่างซึ่งเป็น “ใบแก่” นำมาคั่ว และเอาไปทำยาที่เรียกว่า “ยาทัพยาธิคุณ” ใช้รักษาโรค “เบาหวาน”

 

ดร.นันทกร บุญเกิด นักวิจัยโครงการผลิตกัญชาคุณภาพ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จ.นครราชสีมา กล่าวว่า การเก็บใบสดที่สมบูรณ์ คือใบที่มีลักษณะ 7 แฉก เป็นใบใต้กิ่งช่วงกลางลำต้น เรียกว่า “ใบเพสลาด” ช่วงเวลาเก็บที่ดีที่สุดคือ 03.00 -06.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ให้สารออกฤทธิ์ทางยาคุณภาพดี

ภก.พงษ์ศักดิ์ สง่าศรี อดีตอาจารย์ประจำ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหาสารคาม กล่าวถึง การใช้ ใบกัญชา นำมาชงเป็น “ชากัญ” ว่า การชงชา แม้จะให้ความร้อนไม่ถึงระดับที่สามารถเปลี่ยนสาร THC และ CBD ในใบกัญชาให้ออกมาได้ แต่จะได้รับสารตั้งต้น ของสารทั้ง 2 ชนิดแทน นั่นคือ THCA และ CBDA ซึ่งช่วยลดอาการอักเสบ ที่เป็นต้นตอของโรคเกือบทั้งหมด เช่น โรคปวดข้อเรื้อรัง ที่สามารถช่วยลดอาการปวดได้

โดยการชงชา ที่ใช้ ใบกัญชา เพื่อดื่มนั้น ได้ประโยชน์ต่อร่างกายแน่นอน เนื่องจากได้รับสารแคนาบินอยด์ ที่เข้าไปช่วยกระตุ้นต่อระบบแคนนาบินอยด์ในร่างกายของคนเรา

อย่างไรก็ตาม แม้ “ใบเพสลาด” จะเป็นส่วนของ”กัญชา” ที่มีสาร THC และ CBD น้อยกว่าส่วนอื่นๆ มาก คือ ประมาณ 1-2% เท่านั้น แต่ในใบยังมีสารประกอบที่สำคัญอย่าง “กรดกลูตามิก” ที่เป็นประโยชน์ต่อการรับรส เพิ่มรสชาติของอาหาร

 

“ซาโปนิน” ต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลในลำไส้เล็ก , “ฟลาโวนอยด์” ต้านอนุมูลอิสระได้ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย หัวใจและหลอดเลือด รักษาระดับน้ำตาลในเลือด และการทำงานของสมอง , “แอลคาลอยด์” สารสำคัญในยาระงับปวด ยาชา ยาแก้ไอ ยาแก้หอมหืด ยารักษาแผลในกระเพาะและลำไส้ ยาลดความดันโลหิต ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ และยาในกลุ่มการรักษาเพื่อต้านมะเร็ง

“เทอร์ปีน” กลุ่มสารออกฤทธิ์ ที่ช่วยในเรื่องการผ่อนคลาย และบรรเทาความเครียด รวมทั้งยังมีธาตุเหล็ก สังกะสี แมกนีเซียม เป็นต้น

ขณะที่ในต่างประเทศ ให้ความสำคัญ กับ ใบกัญชา เช่นเดียวกัน โดยใช้ในการทำอาหาร เช่น การใช้ใบสดในเมนูสลัด หรือ น้ำปั่นกัญชาแบบสมูตตี ซึ่งจะให้ THCA และ CBDA มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดย CBDA มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในขณะที่ THCA มีประสิทธิภาพสำหรับความเจ็บปวดและอาจช่วยปกป้องสมองจากโรคความเสื่อม

เช่นเดียวกัน ที่มีการใช้ใบแห้ง เพื่อชงชา ซึ่งช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย จากสารเทอร์ปีน และยังให้ความสดชื่นอีกด้วย

ข้อมูลอ้างอิง : https://www.cannhealth.org/content/5938/cannabis-molasses

                  https://www.medicinalthaicannabis.com 

                  http://www.sut.ac.th/2012/news/detail/1/news20200719 

                  https://www.cannaconnection.com/blog/19208-cannabis-fan-leaves-what-they-are-and-how-to-use-them

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

“กัญชา” พืชเศรษฐกิจแห่งความหวัง มูลค่าตลาดโลกพุ่งทะลุเพดาน