ภูมิปัญญาท้องถิ่น กระเป๋ากระจูดสาน-ซาโนติก งานคราฟท์ 2 วัฒนธรรม

by ThaiQuote, 12 พฤษภาคม 2564

“กระจูด” หรือ “จูด” พืชตระกูลกก ที่พบได้ตามแหล่งชุ่มน้ำ ในป่าพรุพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งนิยมนำมาทำเสื่อกระจูด โดยปัจจุบันเราพบว่า ผลิตภัณฑ์กระจูด เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ได้พัฒนาต่อยอดเป็นภาชนะเครื่องใช้ต่างๆอีกมากมาย

“ป่าพรุควนเคร็ง” ในพื้นที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีผลผลิตกระจูดคุณภาพดี เราจึงมักพบว่าสินค้าแปรรูปที่มาจากกระจูดมาจากที่นี่ แต่สำหรับกับ “จุฑาทิพย์ รองผล” แห่ง “มงคลทิพย์ซูวีเนียร์” เธอมองว่า “กระจูด” สามารถเดินทางได้ไกลกว่า การเป็นเพียงผลิตภัณฑ์ธรรมดา


เส้นทางผลิตภัณฑ์สานกระจูด ของ “มงคลทิพย์ซูวีเนียร์” เดินทางมาไกลเกือบ 15 ปี เริ่มต้นจากครอบครัว ที่มีแม่เป็นสมาชิกของศูนย์ศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยความประณีตในฝีมือการสานกระจูดของแม่นั่นเอง “จุฑาทิพย์” จึงมองเห็นโอกาสที่จะต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ไปไกลกว่าที่เป็นอยู่


“พี่มีแม่ซึ่งเป็นคนสานกระจูดในศูนย์ศิลปาชีพ แม่จะรับทำเฉพาะออเดอร์ที่มีการสั่งทำเท่านั้น ส่วนตัวพี่เองมีครอบครัวอยู่ที่ จ.ภูเก็ต เราเปิดร้านข้าวแกงปักษ์ใต้ ราวปี 2550 มีสาขา 3 สาขาในพื้นที่จ.ภูเก็ต เราก็เอาพวกกระเป๋าสานกระจูดของแม่ มาตกแต่งประดับร้าน จนวันหนึ่งมีลูกค้าสนใจ ทำให้เราเอากระเป๋าสานจากแม่เข้ามาขายในร้าน ธุรกิจเติบโตต่อเนื่องจน พี่ยกร้านข้าวแกงให้น้องสาวดูแลต่อ และตัวเองก็มาทำผลิตภัณฑ์สานจากกระจูดโดยเฉพาะ”


“จุฑาทิพย์” เล่าว่า ผลิตภัณฑ์สานกระจูด เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว และหน่วยงานรัฐ ที่จะสั่งไว้เป็นของที่ระลึกที่สามารถใช้งานได้จริง จนมาวันหนึ่งจากคำแนะนำของ สำนักงานพัฒนาชุมชนจ.ภูเก็ต งานคราฟท์ที่ต่อยอดรวมเอา 2 วัฒนธรรมของ 2 จังหวัดภาคใต้จึงเกิดขึ้น

“ภูมิปัญญาจากบ้านเกิดของเราคือ การสานกระจูดให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขณะที่ “มงคลทิพย์ซูวีเนียร์” เราจะเน้นที่คุณภาพของผลิตภัณฑ์ จุดเด่นของเราคือ การใช้กระจูดเส้นเล็กทีม่คุณภาพดี เมื่อนำมาถักด้วยมือจะใช้ความประณีตสูง มีอายุการใช้งานนับ 10 ปี หากรู้วิธีเก็บรักษา เมื่อนำมาผสมผสานกับ ผ้าซาโนติก หรือ ผ้ามัดย้อมลายสายแร่ เอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดภูเก็ตสะท้อน จึงช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม จนสามารถเป็น 1 ในสินค้า OTOP ขึ้นเครื่องได้”
ผ้าซาโนติก (Sano-Tic) หรือ ผ้ามัดย้อมลายสายแร่ ที่ “จุฑาทิพย์ กล่าวถึง คือ ผ้าซึ่งมีลวดลายเอกลักษณ์ที่สะท้อนภูมิปัญญาเด่นของคนเมืองเหมืองแร่ดีบุกแหล่งใหญ่ในภาคใต้เมื่อครั้งอดีต ที่เน้นขับเด่นลักษณะสีเหลือง ที่หมายถึง “แร่ดีบุก” ทองคำของคนภูเก็ต และสีฟ้า สีประจำจังหวัด ซึ่งไม่ง่ายนักหากจะนำ “ผ้าซาโนติก” มาใช้ประกอบผลิตภัณฑ์ เนื่องจากต้องได้รับอนุญาตจาก สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดภูเก็ต เสียก่อน


เรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์ก็เป็นสิ่งสำคัญ “จุฑาทิพย์” บอกว่าเธอจะเน้นที่เรื่องประโยชน์ของการใช้งาน ที่มาพร้อมกับแฟชั่น ซึ่งคนนิยม เราจึงได้เห็น กระเป๋าสานกระจูน-ซาโนติก ในรูปแบบของคลัทช์ทรงเก๋ที่พร้อมออกงาน เข้ากับชุดสบายๆ หรือเป็นแบบทางการ และ กระเป๋าถือทรงปากบาน ที่มีประโยชน์เอนกประสงค์ ทั้งเป็นที่ใส่ของ หรือใส่สัมภาระได้อีกประมาณหนึ่ง

ขณะที่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เธอยังปรับตัวทางธุรกิจ เพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ที่มากขึ้นด้วยสถานการณ์ของการเดินทาง และการท่องเที่ยวที่ไม่สะดวกมากนัก พร้อมกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่ทำให้ธุรกิจนี้สามารถเดินต่อไปได้ อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์กระถางต้นไม้จากกระจูดสาน ที่มีได้รับความนิยมในบ้านพัก โรงแรม รีสอร์ท รวมถึงสามารถส่งออกไปยังเมียนมาได้อีกด้วย


“มงคลทิพย์ซูวีเนียร” ถือเป็นอีก 1 ในแบรนด์ที่ยังรักษาความเป็นงานคราฟท์ประจำท้องถิ่น โดยมีสมาชิกกว่า 15 คนในชุมชนที่ช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานออกมาสู่ตลาด ซึ่งนอกจากการรักษางานหัตถกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ให้คงอยู่แล้ว ยังช่วยให้คนในชุมชนมีรายได้อย่างยั่งยืนได้อีกด้วย

ก่อนทิ้งท้าย “จุฑาทิพย์” ยังได้บอกถึงเคล็ดลับการดูแลกระเป๋าสานกระจูด ให้สามารถใช้ได้นาน โดยมีวิธีการเก็บรักษาคือ หากไม่ได้ใช้งานควรจะเก็บไว้ในที่แห้งไม่เปียกชื้น หากโดนน้ำ จะต้องนำมาผึ่งลม และอุ่นแดด เพื่อไล่ความชื้น ระวังอย่าให้โดนแดดจัดเพราะจะทำให้กระจูดกรอบได้ ที่สำคัญคือเรื่องความความชื้น ซึ่งต้องระวังเป็นพิเศษ เท่านั้นก็จะทำให้กระเป๋ากระจูดมีอายุการใช้งานนับ 10 ปีได้

สนใจ “กระเป๋าสานกระจูด-ผ้าซาโนติก” สามารถชมสินค้าได้ที่ https://thailandmall.com/th/products/blue-big-mouth-handbag

 

 

 

 

 

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

เปิด 5 ไอเดียสุดเจ๋ง ลุยธุรกิจ "คนรักกัญ"