แนะนำสารพัดเมนูจาก “กระท่อม” ไอเดียต่างชาติที่ทำคนไทยอึ้ง

by ThaiQuote, 27 สิงหาคม 2564

ภายหลังการ “ปลดล็อกกระท่อม” แล้วคนไทยสามารถใช้พืชชนิดนี้ได้ ทั้งการกิน ปลูกและซื้อขาย ซึ่งเรามักจะคิดว่า ใบกระท่อม สามารถเคี้ยวสด ทำน้ำต้มใบกระท่อม และชงชา ได้เพียงไม่กี่อย่าง แต่รู้หรือไม่ว่าในต่างประเทศนั้น มีวิธีการแปรรูปกระท่อมเป็นเมนูอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ ได้อีกมากมาย

“ใบกระท่อมชุบแป้งทอด” เมนูฮิตจากประเทศเพื่อนบ้าน มาเลเซีย โดยนิยมกินเป็นอาหารเช้าคู่กับ กาแฟ เพื่อช่วยให้เริ่มการทำงานในตอนเช้าได้อย่างกระปรี้กระเปร่า


ขณะที่ในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ข้อมูลจาก American Kratom Association ประเมินว่ามีคนอเมริกัน ใช้ “กระท่อม” ประมาณ 3-5 ล้านคน เพื่อเป็นยารักษาโรค และอื่นๆ ในรูปแบของการชงชา และผงบรรจุแคปซูล นอกจากนี้ยังมีเมนูอาหารจากกระท่อม อีกมากมาย

เนื่องจาก กระท่อมมี “รสขม” จากสารแอลคาลอยด์ (Mitragyna speciosa) ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติทางที่มีผลช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ลดความปวดเมื่อย สู้แดดในการทำงานกลางแจ้ง

คนอเมริกัน และยุโรป จึงประยุกต์ใช้กระท่อมผง ผสมในเมนูอาหาร โดยความร้อนจากการปรุง จะไม่ทำให้คุณสมบัติเหล่านี้ของกระท่อมลดลง

“กระท่อมในซอสอาหารต่าง” เป็นการประยุกต์ใส่ กระท่อมผง ลงในซอสสำหรับปรุงอาหาร เช่น ซอสแอปเปิ้ลที่ใช้เป็นของหวาน โดยใช้ความหวานกลบความขมของกระท่อม หรือซอสสเต็ก ที่ปรุงใช้มีรสชาติกลมกล่อม
“กระท่อมสมูตตี้” ใช้ใบกระท่อมสด หรือ กระท่อมผง ปั่นรวมกับน้ำผลไม้ หรือพืชผัก เช่น ส้ม มะนาว มะพร้าว มะม่วง กล้วย คะน้า ผักโขม สตรอเบอร์รี่ กลายเป็นเมนูสำหรับคนรักสุขภาพ



“บราวนี่กระท่อม” ใช้กระท่อมผง เป็นส่วนผสม แบบเดียวกับ กัญชา หรือผสมรวมกันเป็นบราวนี่สมุนไพร รสช็อกโกแลตในขนม และน้ำตาลจะช่วยกลบความขมของกระท่อมได้

“กาแฟกระท่อม” ผสมกระท่อมผงในกาแฟ เครื่องดื่มตอนเช้า เพื่อช่วยในการทำงานตลอดวัน มีความกระฉีบกระเฉงเพิ่มขึ้น

แม้กระท่อมจะสามารถนำมาทำเมนูได้อีกมากมาย แต่ก็มีข้อควรระวัง คือ ผลข้างเคียง เมื่อได้รับเสพกระท่อมมากเกินไป เช่น ความอยากอาหารลดลง หรือน้ำหนักลด (ไม่แนะนำให้ใช้เป็นยาลดน้ำหนัก) คลื่นไส้อาเจียน อาการท้องผูก ปัสสาวะบ่อย วิตกกังวล นอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ


ขณะเดียวกันก็ไม่ควรใช้ใน เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หญิงมีครรภ์ และหญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้มีความผิดปกติทางจิต และห้ามใช้ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจ

 

เรื่องที่น่าสนใจ

เปิดผลวิจัย “บาร์เรน” ฉีดวัคซีนโควิด “แอสตร้าฯ” ช่วยลดอัตรากรตายเหลือ 0.03%