กองสลาก พร้อมเปิดขาย “ล็อตเตอรี่ออนไลน์” 80 บาททุกใบ รอกฤษฎีกาตีความ

by ThaiQuote, 16 กันยายน 2564

โฆษกกองสลาก เผย ล็อตเตอรี่แพง เกิดจากการขายช่วงต่อ ยันเจอจับพร้อมตัดสิทธิการขายเหตุผลิดสัญญา ชี้หวย 80 บาทมีจริง เตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่ “ล็อตเตอรี่ออนไลน์” ขาย 80 บาททุกใบ รอกฤษฎีกาตีความว่าทำได้หรือไม่ แจง 5 เสือกองสลาก เกิดจาก “หวยบนดิน” ปัจจุบันไม่มีแล้ว

 

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการและโฆษกสำนักงานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “คุยให้รู้เรื่อง” สถานีโทรทัศน์ NBT ในกรณีของการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือล็อตเตอรี่ในราคาใบละ 80 บาท ว่า จากการที่ว่าทำไมหวย 80 บาท ถึงไม่สามารถขายได้ เพราะเป็นเหมือนโรคเรื้อรัง ซึ่งจะต้องใช้วิธีที่สำคัญคือใช้วัคซีนฆ่าให้สนิท

 

ทั้งนี้สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก 1.โครงสร้างของการแบ่งรายได้ ในจำนวน 80 บาทของราคา จะต้องแบ่ง 60% หรือ 48 บาท จ่ายเป็นเงินรางวัล และ23% ให้นำส่งเป็นงบประมาณแผ่นดิน หรือประมาณ 17 บาท ที่เหลือ 12-14% ให้เป็นกำไรของผู้ค้า


หากเป็นนิติบุคคลจะมีค่าจัดการ 2% หากเป็นคนขายปกติจะมีกำไร 12% ที่เหลือ 3% เป็นเงินบริหารงานสำนักงานสลากฯ เพราะฉะนั้นในทุกงวดจะต้องมีการจ่ายรางวัลให้ครบ 60% หากจ่ายไม่ครบจะติดมาตรา 157

 

ดังนั้น สำนักงานสลากฯ จึงต้องเริ่มต้นจากการขายขาด เช่น 1 ล้านใบต้องขายขาดไม่รับคืน ซึ่งคนที่รับไปขายจะต้องมีเงินทุน ส่วนหนึ่งก็กู้เงินมาแล้วนำสลากไปขาย แต่ปกติแล้วคนที่รับไปก็จะขายไม่ได้หมดทุกใบใน1 เล่ม เช่น เลขที่คนไม่ชอบซื้อคือเลขดับเบิล 11,22 และเลขท้าย 2 ตัวที่ถูกรางวัลของงวดที่ผ่านมา ซึ่งจะมีใบที่ขายไม่ค่อยได้อยู่ 11 ใบ

 

ใน 1 เล่ม คือ 100 ใบ ใบละ 70.40 บาท เท่ากับเล่มละ 7,040 บาท แต่ละรายจะได้ 5 เล่ม หากขายในราคา 80 บาท ใน 89 ใบที่ขายได้แน่ๆ จะได้เงินประมาณ 7,200 บาท ซึ่งใน 15 วัน เท่ากับจะมีกำไร 160 บ. นี่คือเหตุผลที่ผู้ขายสลากบอกว่าเป็นความเสี่ยง จึงเพิ่มราคาขายเป็นใบละ 100 บาท นี่คือเรื่องของโครงสร้าง ดังนั้นวิธีการแก้เบื้องต้น เราจึงพยายามคละเลขใน 1 เล่ม ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2558

 

2.ปัญหาที่มาของสลากมีราคาแพง คือสลากไม่พอมีน้อย หวยชุด และเรื่องของเลขไม่สวยจึงทำให้มีการจัดชุดจัดเล่ม ซึ่งที่ผ่านมาเราแก้ปัญหามาโดยตลอด ปัจจุบันจึงจะเป็นว่าหวยชุดมีแค่ 2 ใบ หรือเต็มที่ไม่เกิน 5 ใบซึ่งน้อยมาก ซึ่งเราก็แก้ปัญหานี้โดยมีสลากชุดขายที่เป็นทางการ

 

3.การขายช่วงล็อตเตอรี่ (ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว) สลากทุกงวดจะพิมพ์ 100 ล้านใบ แบ่งให้คนขายรายละ 5 เล่ม เท่ากับ 2 แสนคน แต่คนขายปัจจุบัน ทุกคนต้องการ 10 เล่มเป็นอย่างน้อย ขณะเดียวกันในช่วงวิกฤตโควิดที่มีความต้องการขยายสลากเพิ่มมากขึ้น อาจมีประมาณ 400,000 คนที่ต้องการขายสลาก ดังนั้นจึงมีการเวียนเทียนขายต่อกัน ราคาจึงเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 80 บาท รับต่อในราคา 85-90 บาท ไปขายประชาชนในราคา 100 บาท ดังนั้นจึงต้องตัดวงจรนี้ทิ้ง เพราะการขายช่วงทำให้เกิดสลากเกินราคา และผิดสัญญาที่ทำไว้กับกองสลากฯ ว่าจะขายเอง ซึ่งการกระทำเช่นนี้เมื่อรับทราบกองสลากฯ จะตัดสิทธิการขายให้ทันที

 

“สำหรับแนวทางแก้ไข หากจะต้องแก้ให้เบ็ดเสร็จ คือการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งจะขายด้วยระบบออนไลน์ แน่นอนว่าจะต้องมีคนไม่เห็นด้วย แต่เมื่อสามารถที่จะซื้อสลากผ่านทางออนไลน์ได้ในราคา 80 บาท ส่วนนี้จะช่วยแก้ปัญหาของสลากราคาแพงได้ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างในคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ว่าสามารถทำได้หรือไม่ หากสามารถทำได้ สำนักงานสลากฯ จะทำแพลตฟอร์มการขายออนไลน์ขึ้นมาเอง ซึ่งจะทำแน่นอน” นายธนวรรธน์ กล่าว

 

ขณะเดียวกัน ประเด็นเรื่อง “5 เสือกองสลาก” เกิดมาจากกลุ่มก้อนธุรกิจที่เป็นกลไกในการซื้อสิทธิ ในช่วงที่มีการออก “หวยบนดิน” ซึ่งทำให้ ล็อตเตอรี่ ไม่สามารถขายได้ จึงมีกลุ่มนิติบุคคลที่พร้อมจะเป็นเอเจนซี่ เข้ามารับซื้อล็อตเตอรี่จากกองสลากฯ เพื่อนำไปจัดการในการขาย เมื่อรับไปก็มีการจัดชุด จึงเกิดเป็นหวยชุดมาถึงปัจจุบัน

 

“5 เสือกองสลาก เกิดขึ้นเพราะนโยบาย หวยบนดิน ล็อตเตอรี่ขายไม่ได้ กลุ่มธุรกิจเหล่านี้จึงเข้ามาขอจัดการเป็นเอเจนซี่เพื่อกระจายการขายล็อตเรอรี่ให้ มันเลยกลายเป็นโครงสร้างธุรกิจ ซึ่งถูกรื้อเมื่อรัฐบาลคสช.เข้ามาในปี 2558 โดยโควตาในส่วนนี้ ปัจจุบันได้ให้กับสมาคมการกุศลแทน คือ สภาสังคมสงเคราะห์ องค์การทหารผ่านศึก สมาคมคนพิการ เป็นต้น ซึ่งมูลนิธิที่ไม่แสในส่วนนี้วงหากำไรต่างๆ จะได้สลากในส่วนที่เป็นระบบโควตาประมาณ 31 ล้านใบ อีก 69 ล้านใบจะเป็นในส่วนของประชาชน” โฆษกกองสลากกล่าวในตอนท้าย