สปสช.ยันไม่ได้ยกเลิก Home Isolation ชี้ให้เป็นดุลยพินิจแพทย์ พร้อมตามจ่ายค่ารักษาให้ ส่วนอภ. ปรับแผนเพิ่มสำรองยา

by ThaiQuote, 15 กรกฎาคม 2565

สปสช. ยืนยันไม่มีการยกเลิกระบบการรักษาแบบ Home Isolation เพียงแต่ให้เป็นดุลย์พินิจของแพทย์ว่าจะเลือกแนวทางการรักษาแบบไหน หากแพทย์เห็นว่าควรดูแลแบบ Home Isolation สปสช.ก็พร้อมตามจ่ายค่าบริการให้ ส่วนอภ. ปรับแผนเพิ่มสำรองยาฟาวิพิราเวียร์-โมนูลพิราเวียร์ หลังความต้องการเพิ่ม

 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ สปสช. ประกาศปรับหลักเกณฑ์แนวทางการจ่ายชดเชยบริการโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา ปรากฎว่ามีประชาชนจำนวนหนึ่งเกิดความเข้าใจผิดว่า สปสช. จะไม่จ่ายค่าบริการ หรือ จะยกเลิกบริการที่เกี่ยวกับโควิด-19 เช่น การตรวจคัดกรอง การดูแลแบบ Home Isolation, Community Isolation เป็นต้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด การปรับหลักเกณฑ์แนวทางการจ่ายชดเชยบริการโควิด-19 ไม่ใช่การยกเลิกบริการ สปสช. ขอยืนยันว่าประชาชนจะยังได้รับการดูแลที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เช่นเดิม

 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

 

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า สาระสำคัญของการปรับหลักเกณฑ์ฯดังกล่าว เป็นเพียงการเปลี่ยนแหล่งที่มาของงบประมาณที่ใช้เพื่อดูแลเกี่ยวกับโควิด-19 เท่านั้น จากเดิมที่ใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน มาเป็นการใช้เงินจากแหล่งงบประมาณตามระบบปกติ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับโรคโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่น กล่าวคือ หากผู้ป่วยใช้สิทธิบัตรทอง โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการที่ให้บริการเกี่ยวกับโควิด-19 ก็จะเบิกเงินตามระบบปกติของ สปสช. เหมือนโรคอื่นๆ หากเป็นผู้ป่วยในก็คือการจ่ายแบบ DRG หากเป็นผู้ป่วยนอกก็จะจ่ายแบบเหมาจ่ายรายหัว ส่วนโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบบัตรทองก็จะสามารถเข้าไปรับบริการได้ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการเบิกจ่ายเงินระหว่าง สปสช. และหน่วยบริการ ไม่เกี่ยวกับการให้บริการประชาชนแต่อย่างใด

นพ.จเด็จ ยกตัวอย่างอีกว่า ในส่วนของการดูแลแบบ Home Isolation, Community Isolation ที่ประชาชนบางส่วนเข้าใจว่าถูกยกเลิกไปแล้วนั้น ขอยืนยันว่าไม่ได้มีการยกเลิกแต่อย่างใด สปสช.ยังคงจ่ายชดเชยค่าบริการให้แก่โรงพยาบาล เพียงแต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความเห็นของแพทย์ หากแพทย์พิจารณาแล้วว่าคนไข้รายใดควรได้รับการดูแลแบบ Home Isolation สปสช.ก็จะตามไปจ่ายค่าบริการให้

"ต้องย้อนกลับไปช่วงปีก่อน เหตุผลที่เรานำระบบ Home Isolation มาใช้เพราะตอนระบาดแรกๆ นั้น โรงพยาบาลรับคนไข้เข้าเป็นผู้ป่วยในทุกคนจนเกิดปัญหาเตียงไม่พอ ต่อมาก็มีการบริหารจัดการ สงวนเตียงในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยอาการปานกลางและอาการหนัก ส่วนผู้ป่วยสีเขียวที่อาการไม่หนักมาก เราก็ใช้การดูแลแบบ Home Isolation แต่ตอนนี้ประชาชนได้รับวัคซีนจำนวนมากแล้ว อาการป่วยส่วนใหญ่จึงไม่หนักมาก ประกอบกับกระทรวงสาธารณสุขใช้ระบบการดูแลแบบ "เจอ แจก จบ" ทำให้ดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น แต่หากแพทย์มีความเห็นว่าผู้ป่วยรายใดควรได้รับการดูแลแบบ Home Isolation สปสช.ก็จ่ายค่าบริการให้เช่นกัน ดังนั้นขึ้นอยู่กับดุลย์พินิจของแพทย์ว่าจะใช้การดูแลแบบไหนถึงจะดีกับผู้ป่วยมากที่สุด" นพ.จเด็จ กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand

 

 

อภ. เพิ่มสำรองยาฟาวิพิราเวียร์-โมนูลพิราเวียร์ หลังความต้องการเพิ่ม

ด้านภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรม ได้มีการบริหารจัดการสำรอง "ยาฟาวิพิราเวียร์" (Favipiravir) เพื่อรองรับกับสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 จำนวน 25 ล้านเม็ด โดยได้ดำเนินการจัดส่งกระจายตามการจัดสรรให้กับหน่วยบริการแม่ข่าย ตามการจัดสรรของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) อย่างต่อเนื่องทุกวันไม่เว้นวันหยุด หลังจากนั้น หน่วยงานแม่ข่ายจะทำการบริหารจัดการ และกระจายให้แก่หน่วยบริการลูกข่ายในแต่ละพื้นที่ต่อไป

โดยได้ดำเนินการจัดส่งแล้ว 3.7 ล้านเม็ด ส่วนที่เหลืออีก 21.3 ล้านเม็ด ทยอยส่งมอบพื้นที่ได้ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม 65 เป็นต้นไป รวมทั้งสั่งซื้อวัตถุดิบเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ได้ดำเนินการการจัดหา "ยาโมนูลพิราเวียร์" (Molnupiravir) จำนวน 5 ล้านแคปซูล ได้ส่งมอบให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว 2 ล้านแคปซูล เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ส่วนอีก 3 ล้านแคปซูลอยู่ระหว่างจัดหา คาดว่าจะสามารถส่งมอบได้ไม่เกินปลายเดือนกรกฎาคม 2565

ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรม จะติดตามและประเมินสถานการณ์ความต้องการใช้อย่างใกล้ชิด เพื่อทำการปรับแผนการสำรอง ทั้งการผลิตเอง และจัดหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของการระบาดของโรคโควิด-19.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ม.นิวยอร์ค – วิศวะมหิดล แลกเปลี่ยนเฮลท์เทค ‘แล็บมะเร็งบนชิป’ พลิกโฉมการวินิจฉัยและรักษาให้เร็วขึ้น
https://www.thaiquote.org/content/247554

7 วิธีกินแบบชะลอวัยเพื่อ หุ่นสวย ผิวใส สุขภาพดี
https://www.thaiquote.org/content/247548

“มณีแดง” ยาอายุวัฒนะฝีมือคนไทย หวังย้อนเซลล์ชราคนอายุ 75 เยาว์วัยเหมือน 25 ปี
https://www.thaiquote.org/content/247541