สมุนไพรทางยาหลากหลายสายพันธุ์ จากป่าชายเลน

by ThaiQuote, 21 กรกฎาคม 2565

พืชในป่าชายเลนหลายชนิดมีสรรพคุณทางยาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ ซึ่งจุดเด่นที่น่าสนใจของพืชป่าชายเลน คือ เป็นทรัพยากรในท้องถิ่นที่หาได้ง่ายขึ้นเองตามธรรมชาติและมีอายุยืนยาว สามารถให้ผลผลิตได้ทุกฤดูกาล

 

ป่าชายเลน เป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญและประโยชน์อย่างยิ่งในหลายด้าน ในพื้นที่ป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์จะเป็นแหล่งรวมของพันธุ์พืชและสัตว์ชนิดต่าง ๆ ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำนานาชนิด และมีความสำคัญต่อการดำรงชีพของมนุษย์ที่อาศัยอยู่โดยรอบ ทั้งในเขตป่าชายเลนและตามแนวชายฝั่งทะเลหลายรูปแบบ ซึ่งมีคุณค่าในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง หอย ปู และปลา ที่มีหลากหลายชนิด สามารถนำมารับประทานและขายเป็นรายได้ตลอดทั้งปี รวมทั้ง ไม้ป่าชายเลนที่นำมาใช้ประโยชน์ในลักษณะต่าง ๆ ได้หลายรูปแบบ เช่น ทำฟืน ถ่าน ไม้ก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ เสาเข็ม ไม้ค้ำยัน แพปลา และอุปกรณ์การประมง เป็นต้น

ทั้งนี้ ด้วยวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดกับป่าชายเลน ชาวบ้านในท้องถิ่นบริเวณชายฝั่งต่างก็มีประสบการณ์และเรียนรู้ในการนำทรัพยากรไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ ทั้งอาหารและพืชสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็นส่วนของใบดอก ผล หน่อ หัว เหง้า ราก และลำต้น พืชในป่าชายเลนหลายชนิดมีสรรพคุณทางยาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ ซึ่งจุดเด่นที่น่าสนใจของพืชป่าชายเลน คือ เป็นทรัพยากรในท้องถิ่นที่หาได้ง่ายขึ้นเองตามธรรมชาติและมีอายุยืนยาว สามารถให้ผลผลิตได้ทุกฤดูกาล

 

ขลู่ (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pluchea indica (L.) Less)

ขลู่ (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pluchea indica (L.) Less)

 

ขลู่ (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pluchea indica (L.) Less)

มักขึ้นริมน้ำตอนบนของป่าชายเลน เป็นกลุ่ม ๆ ออกดอก – ผล ตลอดปี ใช้ต้มดื่มแก้โรคปวดเอว ปวดหลัง ใช้บำรุงยา ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้วัณโรคที่ต่อมน้ำเหลือง แก้โรคริดสีดวงทวาร เป็นยาช่วยย่อย เปลือกลำต้น ต้มน้ำเอาไอรมทวารหนักหรือรับประทาน แก้โรคริดสีดวงทวาร ใบใช้สับ ตากแห้ง นำมามวนบุหรี่ สูบดมแก้โพรงจมูกอักเสบ ไซนัส ริดสีดวงจมูก ใบนำมาต้มน้ำอาบบำรุงประสาท ใบสดหรือรากนำมาตำพอกบริเวณที่เป็นแผล แก้แผลอักเสบ ใบและราก แก้โรคบิด ขับเหงื่อ แก้แผลอักเสบ ใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักแกล้มได้ เป็นส่วนประกอบในเมนูอาหารท้องถิ่นหลายเมนู เช่น ยำกุ้งแห้งใบขลู่ ยำขลู่กุ้งสด แกงส้มใบขลู่ ปลาหมึกยัดไส้ใบขลู่ เต้าฮวยใบขลู่ ชานมใบขลู่ เป็นต้น ชาวบ้านในท้องถิ่น นำใบขลู่มาคั่วและอบแห้ง ทำเป็นผลิตภัณฑ์ชาใบขลู่ มีสรรพคุณช่วยลดน้ำหนัก ขับปัสสาวะ แก้ปวดเมื่อย ขับระดูขาว ด้วยกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาบวกกับสรรพคุณทางยา ทำให้ชาใบขลู่เป็นสินค้าขายดีของชุมชน และยังเป็นของฝากให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวป่าชายเลนได้เลือกซื้อชาที่มีคุณภาพ ผลิตจากพืชท้องถิ่นไทยอีกด้วย

 

เหงือกปลาหมอดอกม่วง (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acanthus ilicifolius L.)

เหงือกปลาหมอดอกม่วง (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acanthus ilicifolius L.)

 

เหงือกปลาหมอดอกม่วง (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acanthus ilicifolius L.)

มักขึ้นอยู่ตามพื้นที่ชายเลนเสื่อมโทรม มีน้ำทะเลท่วมถึง พื้นที่โล่ง เป็นดินร่วนเหนียว หรือตามริมชายฝั่งที่เป็นดินเลน มีสรรพคุณตามตำราไทย ลำต้นสดนำมาตำให้ละเอียด พอกฝีหรือแผลเรื้อรัง หรือนำมาต้มเอาน้ำอาบ แก้เป็นผดและผื่น ตำผสมน้ำรักษาวัณโรค ซูบผอม ทาแก้โรคเหน็บชา ใบสดนำมาต้มกินเป็นยา แก้ไข้หัวลม เบาหวาน ขับน้ำเหลืองเสีย พิษฝี แก้ฝีทรวง แก้โรคผิวหนังผื่นคัน แก้ประดง และแก้ฝีทั้งภายนอกและภายใน เมล็ดใช้ต้มรวมกับเมล็ดมะเฟือง เปลือกอบเชย และน้ำตาลกรวด เป็น ยาแก้ไอ ขับเลือด หรือนำเมล็ดคั่วให้เกรียม บดจนป่นละเอียด ชงกินกับน้ำเป็นยาแก้ฝี และขับโลหิต ระดู ราก แก้หืด แก้ไอ ขับเสมหะ หรือ รากสดต้มเอาน้ำดื่มแก้โรคงูสวัด ด้วยสรรพคุณการรักษา บำรุงร่างกายรอบด้าน ทำให้พืชชนิดนี้ถูกนำมาผลิตเป็นยาแคปซูล เป็นผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรทางเลือกที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน ในด้านของอาหาร ดอกและใบสามารถนำมาประกอบอาหารได้ เช่น ยำกรุบกรอบดอกเหงือกปลาหมอ ข้าวเกรียบเหงือกปลาหมอ เหงือกปลาหมอชุบแป้งทอด เป็นต้น

 

หัวร้อยรู (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hydnophytum formicarum Jack)

หัวร้อยรู (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hydnophytum formicarum Jack)

 

หัวร้อยรู (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hydnophytum formicarum Jack)

หัวร้อยรู หรือ ว่านหัวร้อยรู จัดเป็นพืชจำพวกหัว เป็นไม้ที่อิงอาศัยเกาะอยู่ตามต้นไม้อื่น หรือเรียกว่าไม้กาฝาก ต้นแก่จะมีหัวกลมโตขนาดเท่าลูกมะพร้าวห้าว ภายในหัวจะเป็นรูย้อนขึ้นและย้อนลง พรุนไปทั่วหัว เมื่อผ่าออกดูมักจะมีมดดำอาศัยอยู่ภายในหัวจำนวนมาก จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อ คือ กระเช้าผีมด มีสรรพคุณตามตำราไทย ช่วยบำรุงหัวใจ ขับพยาธิ แก้พิษในข้อในกระดูก แก้พิษประดง แก้ข้อเข่าข้อเท้าบวม รักษาโรคปอด โรคกระดูก ผิวหนังเป็นจ้ำผื่น ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้พิษอักเสบ

นอกจากจะมีการนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านสมุนไพรแล้ว ยังมีการนำเอากระเช้าผีมดไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ด้วย เช่น ใบใช้เป็นอาหารสำหรับการเลี้ยงผีเสื้อ ชาวลัวะจะใช้เปลือกต้นนำมาลอกออกแล้วนำเส้นใยมาสานสวิงได้ ผลสุกสามารถนำมารับประทานได้ ยอดอ่อนและใบอ่อนใช้นึ่งหรือลวกเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก ใช้ประกอบอาหาร เช่น แกง เป็นต้น และสามารถนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปได้ คนโบราณเชื่อว่าหัวร้อยรูเป็นว่านทางเสน่ห์เมตตามหานิยม มักนำมาใช้ร่วมกับกาฝากชนิดต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ทำเป็นวัตถุมงคล ทำให้หัวร้อยรูเป็นพืชที่มีราคาค่อนข้างสูง

 

สารภีทะเล (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Calophyllum inophyllum L.)

สารภีทะเล (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Calophyllum inophyllum L.)

 

สารภีทะเล (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Calophyllum inophyllum L.)

ต้นสารภีทะเลหรือต้นกระทิง พบได้ทั่วไปตามแนวเขตรอยต่อระหว่างป่าชายเลนกับป่าบกหรือชายหาดเป็นทราย จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบ ในประเทศไทยมีต้นกระทิงอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกใบสีเขียว (Calophyllum inophyllum Linn.) ส่วนอีกชนิดจะเป็นใบสีแดง (Calophyllum polyanthum Wall. ex Choisy) แต่ไทยเรามักจะใช้ต้นกระทิงใบเขียวกันมากกว่า มีสรรพคุณตามตำราไทย ดอกรสหอมเย็น เข้ายาบำรุงหัวใจ ปรุงยาหอม รากเป็นยาใช้ล้างแผล เปลือกต้น ทำยาต้มเป็นยาขับปัสสาวะ ทาภายนอกแก้บวม ต้นและเปลือกต้น ให้ยางใช้สำหรับทาแผล เป็นยาฝาดสมาน พอกทรวงอกแก้วัณโรคปอด กินจะทำให้อาเจียน เป็นยาระบาย ใช้ภายนอกสำหรับล้างแผลอักเสบเรื้อรัง

นอกจากจะมีการนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านสมุนไพรแล้ว ยังมีการนำเอาต้นสารภีไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ด้วย เช่น ทั้งต้นและใบสามารถนำมาใช้ทำเป็นยาเบื่อปลาได้ น้ำมันจากเมล็ดนำมาใช้ประโยชน์ในการปรุงเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และใช้ทำสบู่ได้ และนำมาใช้ผสมทำเป็นน้ำมันไบโอดีเซลได้ เนื้อไม้นำมาใช้ในงานก่อสร้าง ทำเครื่องเรือน ทำตู้ ไม้หมอนรถไฟ เครื่องมือเกษตรกรรม เช่น แอก หรือใช้ทำเรือ และกระดูกงูเรือได้ สารภีเป็นมงคลจังหวัดระยอง และยังมีความเชื่อว่า การปลูกต้นกระทิง ต้นยอ และต้นสารภี ไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ จะปกป้องเสนียดจัญไรมิให้กล้ำกรายเข้ามาในบ้าน

 

ตะบูนขาว (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Xylocarpus granatum J. Koenig)

ตะบูนขาว (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Xylocarpus granatum J. Koenig)

 

ตะบูนขาว (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Xylocarpus granatum J. Koenig)

ตะบูนขาว จัดเป็นไม้ผลัดใบ พบในป่าชายเลน มีสรรพคุณตามตำราไทย ราก นำไปต้มดื่มเช้า-เย็น แก้เส้นตึง เมล็ดทานแก้ท้องร่วง โรคบิด เปลือกต้นและผลทานแก้โรคอหิวาต์ อาเจียนเป็นเลือด ให้คั้นน้ำมดแดงเอามาผสมกิน จะห้ามเลือดภายใน แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างดี เปลือกนำมาต้มเป็นยาหม้อดื่ม และตำให้ละเอียดแล้วพอกตรงบริเวณแผล รักษาอาการท้องเสีย อาการบิด รักษาแผลภายใน แผลสด เป็นหนอง แผลบวมฟกช้ำดำเขียว ใบนำมาต้มน้ำ ดื่มแก้หือ แก้ไอ เมล็ดเพิ่มความแข็งแรงให้กับกะโหลกศีรษะของเด็กทารก นำมาบดด้วยน้ำปูนใส แล้วนำมาทาบนศีรษะของเด็กนอกจากจะมีการนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านสมุนไพรแล้ว ในสมัยก่อนยังใช้เปลือกตะบูนย้อมแห อวน เพื่อเพิ่มความเหนียวและไม่อมน้ำ และนำไปย้อมเสื้อผ้าจะได้ผ้าสีน้ำตามอมแดง และเนื้อผ้าเหนียวทนทาน เนื้อไม้มีสีขาว สามารถนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ได้

“ป่าชายเลน” เป็นทรัพยากรที่เอื้อประโยชน์ต่อมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม วิถีชีวิตและภูมิปัญญาของชุมชนชายฝั่งได้นำพืชพรรณจากป่าชายเลนมาใช้ในการประกอบอาหาร เป็นยารักษาโรค เป็นยาบำรุง ดูแลสุขภาพ ก่อเกิดเป็นภูมิปัญญาที่สั่งสมและถ่ายทอดสู่รุ่นหลัง รวมทั้งได้มีการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด ซึ่งนับเป็นประโยชน์และคุณค่าอีกด้านหนึ่งของป่าชายเลน.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ:

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังฆ่าผู้คน': คลื่นความร้อนที่รุนแรงในยุโรปทำสถิติอย่างไม่เคยมีมาก่อน
https://www.thaiquote.org/content/247614

พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ BA.2.75 ที่จ.ตรัง 1 ราย ผลวิจัยชี้ภูมิคุ้มกัน "โอมิครอน" จากวัคซีนโดสกระตุ้นลดฮวบใน 3 เดือน
https://www.thaiquote.org/content/247593

นักวิจัยไทยเก่ง! สร้างนวัตกรรมจากกากน้ำตาลสู่อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
https://www.thaiquote.org/content/247608