“มะเร็งปากมดลูก” ภัยร้ายสตรี เน้นป้องกันก่อนเกิดโรค

by ThaiQuote, 5 สิงหาคม 2565

“มะเร็งปากมดลูก” ปัจจุบันเป็นที่ทราบแล้วว่า สาเหตุหลักเกิดจากเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus)ซึ่งสายพันธุ์ความเสี่ยงสูงที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกจะมีอยู่ประมาณ 15 สายพันธุ์ โดยเชื้อไวรัสHPVเหล่านี้สามารถส่งผ่านมาทางผู้หญิงได้จากการมีเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้สูงที่สุด

 

 

การป้องกันมะเร็งปากมดลูกสามารถทำได้ดังนี้

1. ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อที่บริเวณปากมดลูก ด้วยการป้องกันขณะมีเพศสัมพันธ์ ใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการติดต่อ ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ รวมทั้งไม่สูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะลดประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันร่างกายที่จะกำจัดไวรัส HPV ให้หมดไป ไวรัสที่ตกค้างอาจก่อให้เกิดเซลล์มะเร็งได้ในอนาคต และรีบไปพบแพทย์หากพบอาการแสดงของโรคที่น่าสงสัย

2. ดูแลสุขภาพ ตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ และตรวจปากมดลูก ด้วย Cervical Screening Test เป็นชุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ผู้หญิงทุกวัยล้วนมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปากมดลูก การตรวจสุขภาพประจำปีจะทำให้ทราบสุขภาพร่างกายและปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น และการตรวจเพิ่มด้วยชุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจะทำให้สามารถตรวจพบความผิดปกติได้เร็ว จะทำให้ทำการรักษาได้รวดเร็วและทันการณ์ และลดความเสี่ยงในการพัฒนาลุกลามของโรค

ทั้งนี้ ผู้หญิงช่วงอายุ 21-29 ปี ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก ๆ 3 ปี ส่วนช่วงอายุ 30-65 ปี ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกควบคู่กับการตรวจหาเชื้อ HPV ทุก ๆ 5 ปี และสำหรับผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ที่ตรวจแต่ไม่เคยตรวจพบสัญญาณของมะเร็ง ก็สามารถหยุดเข้ารับการตรวจได้ แต่หากอาการผิดปกติหรือสงสัยควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม

3. การฉีดวัคซีนป้องกัน ในปัจจุบันมีวัคซีน HPV ที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้บางสายพันธุ์ รวมถึงสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่าง HPV-16 และ HPV-18 วัคซีนจะไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างโปรตีนภูมิคุ้มกันต่อไวรัส HPV (Neutralizing Antibody) โดยวัคซีนจะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อผู้หญิงยังไม่มีเชื้อ HPV อยู่ในร่างกาย ดังนั้น จึงควรฉีดวัคซีนตั้งแต่วัยก่อนมีเพศสัมพันธ์ การฉีดวัคซีนให้ได้ผลป้องกันที่ดีที่สุด คือ ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัย 9 - 26 ปี วัคซีนอาจออกฤทธิ์ป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้นานถึง 10 ปี หรือมากกว่า และมีประสิทธิผลทางการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกประมาณ 70-90%ปัจจุบัน วัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ในประเทศไทยยังไม่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นวัคซีนหลัก ราคาของวัคซีนนี้จึงยังค่อนข้างสูง โดยสามารถรับวัคซีนได้ทั้งในสถานพยาบาลของภาครัฐและในส่วนของภาคเอกชน ซึ่งการฉีดวัคซีน HPV จะต้องฉีดให้ครบทั้งหมด 3 เข็มในช่วงเวลาที่กำหนด โดยฉีดครั้งละ 0.5 มิลลิลิตร คือ ครั้งแรกฉีดในวันที่กำหนดเลือกไว้ ครั้งที่ 2 ฉีดภายใน 1 - 2 เดือนถัดมา และครั้งที่ 3 ฉีดหลังจากครั้งแรก 6 เดือน

วัคซีน HPV มีความปลอดภัยสูงและไม่ค่อยมีผลข้างเคียงที่รุนแรงหรือเป็นอันตราย โดยผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ ได้แก่ เกิดรอยอักเสบ บวมแดง หรือคันบริเวณที่ฉีด และรอยจะหายไปในภายหลัง หรืออาจปวดหัว มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน เป็นช่วงสั้น ๆ แล้วอาการจะทุเลาลงและหายไปเองเมื่อเวลาผ่านไป

แม้วัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ HPV ที่นำไปสู่การก่อมะเร็ง แต่ปัจจัยอื่นก็สามารถเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน ดังนั้น การดูแลรักษาสุขภาพอยู่เสมอควบคู่กับการตรวจเช็คสุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

ที่มา: https://www.pobpad.com/

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ:

ระวังมิจฉาชีพ! ออมสิน เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ SMS-เพจ-เว็บไซต์ปลอม ชวนกู้เงิน
https://www.thaiquote.org/content/247754

เรามาทำความรู้จักโรคหัวใจตีบตันกันให้มากขึ้น เพื่อการป้องกันและการรักษาอย่างทันท่วงที
https://www.thaiquote.org/content/247745

จีนออกมาตรการควบคุมการนำเข้าผลไม้และปลาจากไต้หวัน ขณะระงับการขนส่งทรายไปยังเกาะดังกล่าว หลังการเยือนของ Nancy Pelosi
https://www.thaiquote.org/content/247744