ปรากฎการณ์ลานีญาส่งผลให้ปีนี้มีปริมาณน้ำฝนมาก หลายพื้นที่ในที่ลุ่มต่ำเผชิญความเสี่ยงน้ำท่วม

by วันทนา อรรถสถาวร , 20 สิงหาคม 2565

สถานการณ์น้ำฝนในปีนี้ของไทยอยู่ในปรากฎการณ์ลานีญา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ บางพื้นที่น้ำอาจท่วม แต่คาดการณ์ว่าไม่ท่วมใหญ่ กรมทรัพยากรณ์น้ำฯเตรียมแผนรองรับ 13 มาตรการ

 

ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในปีนี้เราได้รับผลกระทบจากพายุหลายลูก จนทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ตั้งแต่ต้นฤดู ทาง Thaiquote ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พูดคุยเรื่อง “สถานการณ์น้ำในฤดูฝนปีนี้” เชิญติดตามอ่านได้เลยค่ะ...

 

คุณสุรสีห์  กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

คุณสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

 

เราเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการถามว่าปีนี้จะมีน้ำฝนมากไหม คุณสุรสีห์ให้คำตอบว่าสถานการณ์สภาพอากาศและปริมาณน้ำฝนในปีนี้ เนื่องจากเราอยู่ในปรากฏการณ์ลานีญา ส่งผลให้มีปริมาณฝนมากกว่าปกติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติมองว่าตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป จะมีปริมาณฝนตกหนักในภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก

ในขณะเดียวกันตั้งแต่เดือนกันยายน ฝนจะตกไล่ลงมาข้างล่าง ซึ่งจะทำให้มีปริมาณฝนตกหนักพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคใต้ฝั่งตะวันตก และแถบฝั่งตะวันออก

 

ส่วนในเดือนตุลาคม ทิศทางฝนจะลงไปข้างล่าง แต่ก็จะมีบางส่วนอยู่ทางทิศตะวันออก ภาคกลางตอนล่างในระดับหนึ่ง และภาคใต้ก็จะเริ่มมีปริมาณน้ำฝนทั้งสองฝั่ง ส่วนในพื้นที่ด้านบนปริมาณฝนก็จะลดลง

อย่างไรก็ตามทางสำนักงานทรัพยากรน้ำก็จะมีการแจ้งเตือนบริเวณไหนมีความเสี่ยง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ได้มีการแจ้งเตือนเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ เตรียมความพร้อมเพื่อช่วยเหลือประชาชน

จากกรณีปรากฏการณ์ลานีญาทำให้เราสงสัยว่าปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นนั้นมีสัดส่วนอย่างไร เมื่อเทียบกับภาวะปกติ

คุณสุรสีห์กล่าวว่า ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาแล้วในแต่ละภาค ซึ่งคาดการณ์ว่าในปีนี้จะมากกว่าค่าปกติอยู่ประมาณ 10-20% แต่ถ้ารวมทั้งประเทศแล้วก็คาดการณ์ว่าไม่น่าจะมากกว่าค่าปกติมากนัก

 

 

Thaiquote ถามต่อไปว่าแหล่งน้ำต่าง ๆ รับปริมาณน้ำฝนเหล่านี้มากน้อยเพียงใด

คุณสุรสีห์บอกว่า ถ้าเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ยังถือว่าปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย อยู่ที่ประมาณ 44% ยังสามารถรองรับน้ำฝนได้ในปริมาณมาก แม้ว่าหากเกิดปรากฏการณ์น้ำจร คือน้ำฝนที่ตกลงมาจากนอกการคาดการณ์ แต่ขณะนี้มีอ่างเก็บน้ำบางแห่งที่อยู่ในเกณฑ์การเก็บน้ำค่อนข้างมาก ก็ต้องระวังด้วย ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติก็ได้มีการแจ้งเตือนหน่วยงานที่ดูแลโดยตรง เช่นกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต เป็นต้น เช่นทางภาคเหนือมีอ่างเก็บน้ำแควน้อย อ่างเก็บน้ำกิ่วลม กิ่วคอหมา อ่างเก็บน้ำแม่เมาะ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็จะมีอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ลำพระเพลิง เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนสิรินธร เขื่อนจุฬาภรณ์ ในพื้นที่ภาคกลางเขื่อนป่าน้ำชลสิทธิ์ถือว่าปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างมาก ส่วนภาคตะวันออก มีอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล หนองกระแส

 

 

อย่างไรก็ตามก็ได้มีการประเมินอย่างต่อเนื่อง และมีการแจ้งเตือนกลับไปยังพื้นที่เสี่ยง เพื่อระบายน้ำออกมาส่วนหนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน และเป็นการบริหารการจัดการเรื่องความมั่นคงของตัวเขื่อนด้วย ได้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดโดยตลอด

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ในขณะนี้ เกิดจากปริมาณน้ำฝนที่ตกกลงมามาก เนื่องจากร่องความกดอากาศได้พาดผ่านภาคเหนือของบ้านเราค่อนข้างบ่อย ในบางครั้งสวิงลงมาข้างล่างบ้างเล็กน้อย ซึ่งคือภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน ทำให้เกิดมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมที่จะนำความชื้นฝั่งอันดามันเข้ามา หมายถึงจะมีปริมาณฝนที่จะตกหนักมากขึ้นตามมา ส่งผลให้พื้นที่เหล่านั้นมีปริมาณน้ำฝนมาก มีน้ำป่าไหลหลาก แต่ก็มีการแจ้งเตือนจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติมีการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าอย่างน้อย 3-4 วัน แล้วมีการแจ้งเตือนกันไป และให้ทางหน่วยราชการที่รับผิดชอบในพื้นที่มีแผนการช่วยเหลือประชาชนหากมีน้ำป่าไหลหลากลงมาท่วมพื้นที่เหล่านี้

 

 

เราถามต่อถ้าฝนตกท้ายเขื่อนจะบริหารจัดการอย่างไร

คุณสุรสีห์บอกว่าถ้ามีปริมาณน้ำฝนที่ตกท้ายเขื่อนในปริมาณที่มาก เราก็มีวิธีบริหารจัดการอีกอย่างหนึ่ง ในแต่ละพื้นที่ก็มีการประเมิน โดยเฉพาะพื้นที่เมืองซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ใช้แนวทางการป้องกันโดยใช้พนังกั้นน้ำ ในตัวเมืองก็ต้องมีระบบการระบายน้ำที่ดี อย่างไรก็ตามหากมีปริมาณน้ำท้ายเขื่อนมาก ๆ ก็มีโอกาสที่จะท่วมได้ ในพื้นที่ลุ่มต่ำ เพราะศักยภาพลำน้ำไม่เพียงพอที่จะเก็บปริมาณน้ำได้ ภาคประชาชนก็ต้องคอยฟังข่าวสารภาครัฐที่มีการแจ้งเตือนด้วย

 

 

มาถึงคำถามสำคัญในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ “ปีนี้มีแนวโน้มที่น้ำจะท่วมหรือไม่”

แนวโน้มก็มีอยู่แล้ว เช่นลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะในพื้นที่นอกคันกันน้ำ เช่น อยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท ซึ่งต้องเฝ้าระวังในเตือนกันยายน และตุลาคม

ส่วนทางกรุงเทพมหานครก็จะได้รับปัจจัยที่จะทำให้น้ำท่วม 3 ปัจจัยคือ ฝนตกในกรุงเทพฯเกิน 100 มิลลิเมตร ศักยภาพในการระบายมีศักยภาพในระดับหนึ่งเท่านั้น ก็จะก่อให้น้ำท่วมขัง ปัจจัยที่สองคือเรื่องของน้ำทะเลหนุน ทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาระบายสู่ทะเลยากขึ้น อีกปัจจัยหนึ่งคือน้ำหลากที่มาจากทางตอนเหนือสะสมเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในปริมาณที่มาก ดังนั้นต้องมีการวางแผนการบริหารจัดการ นอกจากนี้ในกรุงเทพฯพนังกั้นน้ำยังมีส่วนที่เป็นฟันหลออยู่ ซึ่งทางกรุงเทพมหานครได้มีการบริหารการจัดการที่ใกล้ชิดกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดผลกระทบให้น้อยที่สุด

 

ประเด็นที่น่าสงสัยคือ “ปีนี้จะมีน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯเหมือนครั้งที่ผ่านมาหรือไม่”

คุณสุรสีห์อธิบายว่าปีนี้คิดว่าไม่น่าจะมี ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้นำเสนอ 13 มาตรการเข้าไปให้คณะกรรมการน้ำแห่งชาติ อาทิ
1. การชี้เป้าความเสี่ยงของพื้นที่ที่อาจมีน้ำท่วมในแต่ละเดือน ในแต่ละภาค เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ มีการเตรียมพร้อมในการให้ความช่วยเหลือ มีการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน
2. การขุดลอกคูคลอง การกำจัดผักตบชวา
3. การตรวจความมั่นคงปลอดภัยของคันกั้นน้ำ พนังกั้นน้ำ
4. มีการจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้า เพื่อเข้าไปจัดการปัญหาต่าง ๆ อันเนื่องมาจากปริมาณน้ำมาก ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานเชิงพื้นที่มากขึ้น มีการคาดการณ์ปริมาณน้ำในพื้นที่ มีการแจ้งเตือน และลงพื้นที่ในการช่วยเหลือกรณีเกิดอุทกภัย
5. เตรียมพื้นที่อพยพ กรณีปริมาณน้ำมาก
6. การซักซ้อมทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่

แล้วทางสำนักงานทรัพยากรน้ำมีระบบการเตือนฉุกเฉินเรื่องอุทกภัยน้ำหรือไม่

การทำงานของเรามีการแจ้งเตือนไปยังคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ และมีประกาศออกแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไปแจ้งประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ประชาชนสามารถเข้ามาดูได้ที่สื่อออนไลน์ต่าง ๆ ได้หมด นอกจากนี้ยังติดตามหรือสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา 1182 กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย 1784 กรมชลประทาน 1460.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ:

ปตท.บุกตลาดเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช เตรียมนำลงช่องทางขายในปั๊มน้ำมัน และสตรีทฟู้ดในกรุงเทพฯ
https://www.thaiquote.org/content/247880

นวัตกรรม...แบตเตอรี่กระดาษสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบใช้ครั้งเดียวได้
https://www.thaiquote.org/content/247876

การเลี้ยงปลาในนาข้าวของจีนไม่ใช่เป็นเพียงระบบเกษตรเท่านั้น แต่เป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดมานานนับ 2,000 ปี
https://www.thaiquote.org/content/247868