ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัญหา Climate Change หรือไม่ สภาพดินฟ้าอากาศจะเปลี่ยนไปอย่างไร

by วันทนา อรรถสถาวร , 27 สิงหาคม 2565

Climate Change (สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง) เกิดขึ้นทั่วโลก ประเทศไทยจัดอยู่ในพื้นที่ที่อยู่ในความเสี่ยงสูง เพราะหลายพื้นที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ตลอดจนปริมาณพื้นที่สีเขียวลดลงมาก เกิดพื้นที่เมืองมากขึ้น มาทำความเข้าใจกับ Climate Change ที่จะเกิดขึ้น ไทยได้รับผลกระทบอย่างไร และต้องตั้งรับอย่างไรกับปัญหาระดับโลกนี้

 

Thaiquote ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร. สราวุธ เทพานนท์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย เพื่ออธิบายถึงกลไกการเกิดสถานการณ์ Climate Change และประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากปัญหาระดับโลกดังกล่าวหรือไม่อย่างไร

 

รศ.ดร. สราวุธ เทพานนท์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย

รศ.ดร. สราวุธ เทพานนท์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย

 

รศ.ดร. สราวุธ อธิบายว่าปัญหาอุทกภัยใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกเราไม่สามารถพูดได้ทั้งหมดว่าสาเหตุมาจาก Climate Change แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการสะสมของปัญหา Climate Change สาเหตุก็เพราะว่ามีหลายพื้นที่มีฝนตกหนักมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยตกหนักมากขนาดนี้ ตัวอย่างเช่นที่กรุงโซล ถ้าสถานการณ์ฝนตกหนักที่สาเหตุมาจาก Climate Change จะตกหนักมากประมาณ 137 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง เพราะโดยปกติแล้วฝนตกประมาณ 70-90 มิลลิเมตรต่อวันก็ถือว่ามากแล้ว เมื่อภัยพิบัติเช่นนี้ เราก็ต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร

“เวลาเรามองว่าภัยพิบัติที่มีผลกระทบมาจาก Climate Change เราจะประเมินจากภัยที่เกิดขึ้นถี่ขึ้นหรือไม่ และรุนแรงมากหรือเปล่า ถ้าเรามองในมุมนี้เราก็จะเห็นว่าทั้งความถี่และความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลกมันสูงขึ้นจริง ๆ บางที่ก็ฝนตกมากขึ้น บางที่ก็ร้อนมากขึ้น แม้ว่าใน 1-2 ปีนี้เราได้พยายามลดความร้อนของชั้นบรรยากาศมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะหมดปัญหาเรื่อง Climate Changeในทันที เรื่องเหล่านี้ต้องมองในระยะยาว” รศ.ดร. สราวุธกล่าวพร้อมกับอธิบายต่อว่า

 

 

สาเหตุของการเกิด Climate Change

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด Climate Change คือการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก ทุกการเผาไหม้จะทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ เกิดการสะสมบนชั้นบรรยากาศ รวมถึงกิจกรรมบางอย่างที่ไม่เกี่ยวกับเผาไหม้ เช่น การทำเกษตร เพราะเราต้องใส่ปุ๋ยยูเรีย จะมีการปล่อยไนตรัสออกไซด์ (N2O) ออกมา ซึ่งก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งในการสร้างก๊าซเรือนกระจก ตัวนี้ถ้าเราปล่อย 1 หน่วยจะมีค่าเท่ากับเราปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ 320 หน่วย ในระยะหลังคนนิยมมารับประทานอาหารในกลุ่ม plant based นอกเหนือจากเป็นผลดีต่อสุขภาพแล้ว ยังจะทำให้โลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะการรับประทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ทำให้เกิดปศุสัตว์นั้น สัตว์จะปล่อยก๊าซมีเทนออกมา มีเทน 1 หน่วยจะเท่ากับคาร์บอนไดออกไซต์ 21 หน่วย ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะ Climate Change ได้

รศ.ดร. สราวุธ บอกว่า การเกิดขึ้นของก๊าซเรือนกระจกทุกประเทศล้วนมีส่วนในการสร้างทั้งสิ้น ส่วนใหญ่เรามักคิดว่าประเทศอุตสาหกรรมที่มีการใช้ฟอสซิลในการเผาผลาญเพื่อการผลิตเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ที่จริงแล้วประเทศในเขตเกษตรกรรม ปศุสัตว์ก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นวาระของโลกที่ต้องร่วมมือกันจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับบริบทในแต่ละที่

 

 

ลักษณะทางกายภาพทุกพื้นที่ของโลกได้รับผลกระทบจาก Climate Change เหมือนกัน เพียงแต่จะหนักเบาที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่นพื้นที่ที่ลาดเชิงเขาของประเทศไทย เวลามีฝนตกหนักก็อาจทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากได้ ทั้งนี้เนื่องจากปัญหา Climate Change ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพป่าที่แห้งแล้งขึ้น ปริมาณต้นไม้น้อย ขาดการยึดเกาะของผิวดิน จึงเกิดปรากฏการณ์ดินถล่มลงมาได้

เมืองหลวงของทุกประเทศมีความเสี่ยงน้ำท่วม

“ถ้าเรามองกรุงเทพมหานครพื้นที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล Climate Change ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงมากขึ้น ดังนั้นกรุงเทพฯจึงมีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วม และเป็นหนึ่งใน 10 อันดับของโลกที่มีความเสี่ยงสูง” รศ.ดร. สราวุธ ย้ำ แล้วต่อว่า

นอกจากนี้เมืองหลวงของทุกประเทศส่วนใหญ่มีความเสี่ยงที่จะได้ผลกระทบน้ำท่วมสูงจากวิกฤตการของ Climate Change เพราะเมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่ใกล้กับทะเล เพราะส่วนใหญ่เมืองหลวงจะเป็นเมืองท่าที่สำคัญ โดยเฉพาะในเอเชียจะมีความเสี่ยงสูงมาก

คนส่วนใหญ่มักจะเปรียบเทียบกรุงเทพฯกับอัมสเตอร์ดัมเมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ เมืองเขาต่ำกว่าระดับน้ำทะเล แต่รูปแบบการจัดการเขาต่างจากกรุงเทพฯ เขาจะมีการสร้างเขื่อน แต่ของเราไม่ใช่ กรุงเทพฯนั้นนอกเหนือจากจะเจอปัจจัยของฝนตกแล้วก็ยังจะเจอปัจจัยของน้ำทะเลหนุน เมื่อ 2 ปัจจัยมารวมกัน กรุงเทพฯน้ำท่วมสูงทันที ที่อัมสเตอร์ดัม จะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักเพียงอย่างเดียว แต่จะไม่เจอปัญหาเรื่องน้ำทะเลหนุน เพราะเขามีการออกแบบจัดการเมือง มีการสร้างเขื่อนไว้รอบเมือง

 

 

รศ.ดร. สราวุธ กล่าวว่า ในเรื่องของ Climate Change เราจะมีทางแก้ไขออกเป็น 2 มิติคือ 1. เรื่องการปรับตัวหรือ adaptation ตัวอย่างเช่นเนเธอร์แลนด์มีการปรับตัวที่ดี ส่วนกรุงเทพฯมีการปรับตัวที่ไม่ค่อยดีนัก 2. การลดปัจจัยต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก

Climate Change ทำให้โลกเป็น 2 ขั้ว

รศ.ดร. สราวุธชี้แจงให้ฟังว่า “ปัญหาเรื่อง Climate Change ไม่ได้ก่อให้เกิดน้ำท่วมหนักเพียงอย่างเดียว แต่ในบางพื้นที่ก็มีปัญหาเรื่องความแล้งจัดเช่นกัน แต่โชคดีที่ประเทศไทยอยู่ใกล้บริเวณเส้นศูนย์สูตร เราจึงมีสภาพอากาศที่ไม่มีฤดูหนาวที่หนาวมาก ๆ และฤดูร้อนก็ไม่ได้ร้อนจัดมาก เราไม่มีสภาพอุณหภูมิที่แตกต่างกันในแต่ละฤดูมากมายนัก ผิดกับในบางประเทศที่ถัดขึ้นไปหน่อย จะมีความแตกต่างด้านอุณหภูมิในแต่ละฤดูค่อนข้างสูง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละประเทศด้วย”

รศ.ดร. สราวุธ อธิบายว่า “กลไกของ Climate Change อาจทำให้บางประเทศที่ไม่เคยมีหิมะตก จะมีหิมะตก ส่วนพื้นที่ทะเลทรายแท้ ๆ จะเป็นทะเลทรายที่อุณหภูมิลดลง เพราะ Climate Changeทำให้โลกร้อนขึ้น แต่เนื่องจากโลกมีแผ่นดินและแผ่นน้ำ ดังนั้นพื้นที่บริเวณแผ่นน้ำจะมีการระเหยไอน้ำขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้ความชื้นในบรรยากาศสูงขึ้น ส่งผลให้พื้นที่แห้งแล้ง ร้อน มีอุณหภูมิที่ลดลง แต่ในพื้นที่ที่ไม่ค่อยแห้งแล้ง จะมีโอกาสแห้งแล้งมากขึ้น เป็นเพราะน้ำก็เป็นส่วนหนึ่งของก๊าซเรือนกระจก สังเกตได้ง่าย ๆ ในฤดูร้อนกับฤดูหนาว ฤดูร้อนจะชื้น ๆ แต่ฤดูหนาวจะแห้ง ๆ เป็นเพราะว่าความชื้นในอากาศต่ำ ดังนั้นเวลาประเมินโอกาสในการเกิดฝนก็ต้องมีการประเมินความชื้นในอากาศด้วย มีโอกาสที่จะเกิดพายุมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นความร้อนที่เพิ่มขึ้นของโลกไม่ได้เกิดจากแสงอาทิตย์ที่ส่งตรงมาถึงโลกเพียงอย่างเดียว แต่เป็นองค์ประกอบร่วมกันระหว่างแสงอาทิตย์ที่ส่องลงมามากขึ้น และถูกกักอยู่บนโลกมากขึ้นเช่นกัน อันเนื่องจากชั้นบรรยากาศมีความชื้นของน้ำปกคลุมอยู่ หรืออาจอธิบายได้ว่าแสงอาทิตย์ส่องลงมาพื้นปูน ก็จะสะท้อนกลับไป แต่ถ้าส่องลงมาพื้นน้ำ น้ำจะกักเก็บความร้อนไว้ แล้วค่อย ๆ ปล่อยออกมา โลกเรามีพื้นน้ำมากกว่าพื้นดิน จึงทำให้โลกร้อนขึ้น และเกิด Climate Change มากขึ้น”

 

การเกิด Climate Change ทำให้เกิดความผันผวนของฤดู

รศ.ดร. สราวุธ กล่าวว่า การเกิด Climate Change จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงฤดูต่าง ๆ อย่างค่อนข้างชัดเจน ตัวอย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลของประเทศไทยขึ้นอยู่กับลมมรสุม 2 ตัว ลมที่พัดมาจากตะวันออกเฉียงเหนือ ก็คือพื้นที่ที่มาจากทางประเทศจีน ลมที่มาจากแผ่นดินก็จะพาความแห้งแล้งมา ความชื้นต่ำ จึงทำให้เกิดฤดูหนาว อีกลมหนึ่งคือลมจากตะวันตกเฉียงใต้ คือทะเลอันดามัน อ่าวไทย ลมผ่านทะเลมา ผ่านความชุ่มชื้นมา จึงได้หอบความชุ่มชื้นมาทำให้เกิดฤดูฝนและฤดูร้อน กระบวนการของ Climate Change จะมีผลต่อการปรับเปลี่ยนฤดูนี้ค่อนข้างมาก ความรุนแรงของลมที่พัดมาจากทะเลจะสูงขึ้น จะทำให้ฤดูฝนยาวนานมากขึ้น และการเกิดฝนรุนแรงมากขึ้น ฤดูหนาวของไทยจะสั้นลงเรื่อย ๆ และในปัจจุบันนี้แม้ฝนที่เกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำ ก็ทำให้เราได้รับผลกระทบ เพราะเกิดจากการสร้างเมือง ที่ดินที่ช่วยในการดูดซับน้ำน้อยลง และการจัดการการวางผังเมืองไม่ได้เผื่อไว้สำหรับปัญหาเหล่านี้ ทำให้เราได้รับผลกระทบมากขึ้น โดยปกติถ้าปริมาณน้ำฝนไม่มากกว่า 80-90 มิลลิเมตรต่อวัน พื้นที่โดยส่วนใหญ่รับได้ ยกเว้นบางพื้นที่เกิดปัญหาดินถล่มเพิ่มขึ้นมาก็จะเป็นปัญหา แต่นี่ไม่ใช่ Climate Change

ไทยเสี่ยงต่อ Climate Change

รศ.ดร. สราวุธ วิเคราะห์ว่า “ประเทศไทยจัดว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจาก Climate Change เพราะกรุงเทพฯและปริมณฑล เราอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เชียงใหม่ก็รายล้อมด้วยภูเขา เมืองอื่น ๆ ก็ต้องปรับตัว เช่น ภาคใต้เป็นภาคที่มีฝนตกมากอยู่แล้ว ก็ต้องมีการออกแบบที่มีระบบการระบายน้ำที่ดีเพียงพอ และมีกระบวนการบำรุงรักษา ตัวอย่างเช่นกรุงเทพฯมีการสร้างอุโมงค์ยักษ์เพื่อช่วยในการกักเก็บและระบายน้ำ แต่ระบบการระบายน้ำในเส้นเลือดฝอยเกิดอุดตัน มีขยะมาก ขาดการลอกท่อ ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้”

 

 

ส่วนในต่างจังหวัดกำลังสร้างระบบเตือนภัย มีการคาดการณ์โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลันในแต่ละพื้นที่ทั่วโลก ของประเทศไทยศูนย์กลางอยู่ที่เวียดนาม และครอบคลุมส่งข้อมูลเหล่านี้กลับมาสู่ประเทศไทยด้วย ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยบอกว่าจะมีสถานการณ์ฝนหรือเกิดปัญหาทางสภาพภูมิอากาศอย่างไร และสิ่งที่ต้องปฏิบัติ 1,2,3… นอกจากนี้ระเบียบใหม่ให้การพยากรณ์อากาศต้องมีข้อมูลที่มากกว่านี้ เพื่อเป็นแนวทางให้เกิดการปฏิบัติของประชาชน ตัวอย่างเช่น มีพายุเข้า ฝนตกหนัก โรงเรียนควรหยุดการเรียนการสอน เป็นต้น เป็นการเตือนที่เพิ่มขึ้นและเตือนต้องมีแนะนำแนวทางปฏิบัติด้วย (action) เหมือนกับการเตือน PM2.5 ที่จะบอกถึงระดับความรุนแรงของฝุ่น และสิ่งที่จะต้องทำในวันรุ่งขึ้นควรเป็นอย่างไร กฎระเบียบนี้เพิ่งออกเมื่อประมาณกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เจ้าภาพคือกรมอุตุนิยมวิทยา และมีกรมบรรเทาสาธารณภัยเข้ามาสนับสนุนด้วย

แนวทางป้องกันก็จะประกอบด้วยการปรับตัวและการลดเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก ทุกประเทศต้องมีส่วนลดการปล่อยภาวะเรือนกระจก ก่อนหน้านี้จะผลักภาระนี้ให้กับประเทศด้านอุตสาหกรรม แต่ที่จริงแล้วประเทศทางด้านการเกษตรก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน ดังนั้นจึงควรเป็นการร่วมมือกันทั่วโลก สหประชาชาติได้สร้างข้อตกลงร่วมกันในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยการดึงคาร์บอนลงไปกักเก็บ และเพิ่มการปลูกต้นไม้ให้มีการใช้คาร์บอนไดออกไซต์มากขึ้น เพื่อให้โลกลดภาวะเรือนกระจก ซึ่งทำได้ง่ายกว่าการปรับตัว เพราะในแต่ลดประเทศมีศักยภาพในการปรับตัวที่ยากง่ายแตกต่างกัน.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ:

"น้ำท่วม แผ่นดินแล้ง อากาศแปรปรวน เพราะมนุษย์เผาผลาญพลังงานฟอสซิลเพื่อสร้างอารยธรรม ถึงเวลาโลกเอาคืน"
https://www.thaiquote.org/content/247851

ปรากฎการณ์ลานีญาส่งผลให้ปีนี้มีปริมาณน้ำฝนมาก หลายพื้นที่ในที่ลุ่มต่ำเผชิญความเสี่ยงน้ำท่วม
https://www.thaiquote.org/content/247910

โลกร้อนกำลังคุกคามทะเลไทยเหมือนกับทะเลที่อื่น ๆ ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศในทะเล ยากที่จะเยียวยา
https://www.thaiquote.org/content/247772