“โนรู” เกิดในทะเล แต่ตายในเทือกเขา “อันนัม” “ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” ชี้ พายุอ่อนกำลังลงเนื่องจากเทือกเขา"อันนัม"

by ThaiQuote, 29 กันยายน 2565

“ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” โพสต์ “โนรู” สิ้นฤทธิ์เพราะเทือกเขา “อันนัม”ที่พาดผ่านลาว เวียดนาม กัมพูชาคอยกั้นไว้ ส่วนกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนฉบับที่ 23 พายุดีเปรสชัน “โนรู” เข้าไทยอยู่ที่ชัยภูมิและอ่อนแรงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกระทบ 59 จังหวัดทั่วไทย

 

 

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat อธิบายถึงฤทธิ์ของพายุ “โนรู”ที่อ่อนกำลังลงว่า

“พายุหมุนเกิดในทะเล ตายในเทือกเขา
นี่คือประโยคสั้นๆ แต่ผมคิดว่าอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยดีสุด
โนรูที่รุนแรงตอนขึ้นฝั่ง อ่อนแรงลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศไทยไม่เดือดร้อนมากไปกว่านี้
แล้วโนรูตายที่ไหน ?
คำตอบคือพายุหมดแรงบน “อันนัม” เทือกเขาที่เป็นเสมือนเกราะคุ้มครองไทย
อันนัมไม่ได้อยู่ในเมืองไทยด้วยซ้ำ เทือกเขาอยู่ในเวียดนาม ในลาว และมีส่วนปลายอยู่ในเขมร
แต่เทือกเขายาว 1,100 กิโลเมตร สูงถึง 2,800 เมตร คือปราการธรรมชาติที่ปกป้องประเทศไทยมาหลายครั้งครา
อันนัมทอดยาวขนานชายฝั่งเวียดนาม แบ่งเขตชายฝั่งออกจากลุ่มน้ำแม่โขงที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน
ทุกครั้งที่มีไต้ฝุ่นหรือพายุใหญ่เข้ามาทางเวียดนาม อันนัมหยุดแรงลมไว้ ทำให้พายุที่เกรี้ยวกราดลดความแรงลมเหลือเพียงดีเปรสชั่น
แม้ฝนจะตกอยู่ แต่แรงลมเบาลงมาก ความชื้นในอากาศส่วนหนึ่งถูกกักเก็บไว้
อันนัมยังเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าดิบชื้นเรื่อยจนถึงป่าดิบเขาที่สำคัญในอินโดจีน
เป็นถิ่นที่อยู่ของ “เสาลา” แอนทีโลปหายากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก พบเฉพาะแถวอันนัมตอนเหนือ ในลาวและเวียดนาม
อันนัมยังป้อนน้ำให้ลำโขง ทำให้ผู้คนในลาวและเขมรมีความสุข
และนั่นคือเรื่องที่อยากเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟัง ถึงปราการแห่งอินโดจีน
เทือกเขาที่มีความหมายมากมายต่อไทย
และจะยิ่งทวีความสำคัญ เมื่อโลกร้อนขึ้น เมื่อสภาพอากาศสุดขั้วแรงขึ้น
อันนัมยังคงตั้งตระหง่าน
และคนไทยโชคดีเหลือเกินที่เราตั้งถิ่นฐานอยู่เบื้องหลังอันนัม”

ด้านนางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาฉบับที่ 23 ลงวันที่ 29 กันยายน 2565 ข้อความว่า

เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันนี้ (29 ก.ย. 65) พายุดีเปรสชัน “โนรู” มีศูนย์กลางอยู่บริเวณอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ หรือที่ละติจูด 16.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 102.0 องศาตะวันออก โดยมีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 50 กม./ชม. พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 10 กม./ชม. คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในระยะต่อไป ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ส่งผลทำให้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมีลมแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม สำหรับประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งให้ระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้

วันที่ 29 กันยายน 2565

ภาคเหนือ: จังหวัดลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลกและเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

วันที่ 30 กันยายน 2565

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา และบุรีรัมย์

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 1 ต.ค. 65.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ม.มหิดล สร้างชุมชนแข็งแกร่ง ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าภายใต้โครงการ “วันเฮลท์มหิดลนครสวรรค์”
https://www.thaiquote.org/content/248255

เอ็กโก กรุ๊ป เร่งขับเคลื่อนองค์กรในทุกมิติให้พร้อมตอบสนองต่อการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงาน
https://www.thaiquote.org/content/248251

ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัญหา Climate Change หรือไม่ สภาพดินฟ้าอากาศจะเปลี่ยนไปอย่างไร
https://www.thaiquote.org/content/247988