โรคความดันโลหิตสูง การป้องกันและการรักษา

by ThaiQuote, 2 พฤศจิกายน 2565

"โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากโรคหนึ่งในผู้ใหญ่ โดยพบได้สูงถึงประมาณ 25-30% ของประชากรโลกที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และจะพบได้สูงขึ้นในผู้สูงอายุ ส่วนในเด็กก็สามารถพบเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน แต่จะพบได้น้อยกว่าในผู้ใหญ่มาก" – Medthai-

 

 

คลินิคการแพทย์แผนไทย หมออรรถวุฒิ กล่าวว่า ความดันสูง (Hypertension) เกิดจากความดันเลือด ภายในหลอดเลือดแดง สูงกว่าปกติ คือ อยู่ในระดับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งปกติแล้ว คนเราจะมีค่าความดันโลหิตปกติ อยู่ในระดับ 120/80 มิลลิเมตรปรอท โดยสาเหตุหลักกว่า 90% ที่ทำให้ความดันสูงขึ้นมานั้น เกิดจากกรรมพันธุ์ และ อายุที่มากขึ้น นอกจากนี้โรคความดันสูง สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ชอบดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือ ผู้ที่เป็นโรคไต โรคกรวยไตอักเสบเรื้อรัง โรคเบาหวาน ซึ่งถือว่าอันตราย ดังนั้นจำเป็นจะต้องรักษาความดันสูง ให้ค่าความดันโลหิตปกติ ทั้งนี้การรักษาความดันสูง สามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการพบแพทย์เพื่อทานยา

ก่อนจะรักษาความดันสูง จำเป็นต้องทราบว่า หัวใจหลักของการรักษาความดันสูง คือ “การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต” ต้องรู้ว่าอะไรที่ควรทำ อะไรที่ควรเลี่ยง เพราะต่อให้กินยารักษาความดันสูง แล้วไม่ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาการก็จะไม่ดีขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นการทานยา จึงไม่ใช้ทางออกที่ดีที่สุด แต่ควรปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นหลัก และให้ยาเป็นตัวเสริมในการรักษา ซึ่งผู้ป่วยความดันสูง ควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้

สิ่งที่ควรทำ เมื่อรักษาความดันสูง ด้วยตัวเอง

1. หากเป็นโรคอ้วน หรือ น้ำหนักเกินมาตรฐาน จำเป็นต้องลดน้ำหนัก ควบคุมอาหารด้วย
2. อาหารมีผลต่อระดับความดันสูง ควรรับประทานอาหาร ให้ครบทั้ง 5 หมู่ ด้วยการใช้ทฤษฎี 2:1:1 คือ ผัก 2 ส่วน : ข้าว 1 ส่วน : ผัก 1 ส่วน
3. รับประทานข้าว หรือ แป้ง ไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เพราะมีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมน้ำหนัก ป้องกันการเกิดอาการความดันสูง เบาหวาน ชะลอความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย
4. รับประทานถั่ว หรือ ธัญพืช แบบไม่อบเกลือ เพื่อเพิ่มแมกนีเซียม โพแทสเซียม โปรตีน ไฟเบอร์ ไขมันดี ให้กับร่างกาย ทำให้ความดันสูง คอเลสเตอรอลลดลง
5. รับประทานผัก และ ผลไม้ ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น ผักโขม อโวคาโด้ มะเขือเทศ ลูกพรุน สับปะรด แอปเปิ้ล แตงโม กล้วย
6. รับประทานผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เช่น บลูเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ แครนเบอร์รี่ เพราะมีสารฟลาโวนอยด์ (Flavoniods) ช่วยป้องกันความดันสูง ลดระดับความดันโลหิต ลดการแข็งตัวของหลอดเลือดแดง ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น สามารถต้านอนุมูลอิสระได้อีกด้วย
7. รับประทานอาหาร ที่มีสมุนไพรลดความดันสูงเป็นส่วนประกอบ เช่น กระเทียม ขิง กระเจี๊ยบแดง เป็นต้น
8. ใช้น้ำมันพืช ประกอบอาหาร เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่า ที่มีไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว สารโพลีฟีนอล (Polyphenol) กรดไขมันโอเมก้า-3 มีสารต้านอนุมูลอิสระ ฯลฯ ซึ่งดีกว่าการใช้น้ำมันจากสัตว์
9. ดื่มน้ำสะอาด วันละ 8 แก้ว/วัน
10. ความดันสูง ออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 วัน/สัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า สุขภาพจิตดี แต่ก่อนออกกำลังกาย จำเป็นปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินความเสี่ยงก่อน เพราะหากความดันสูงมาก ก็จำเป็นต้องรักษาความดันสูง ให้อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถออกกำลังกายได้ก่อน มิเช่นนั้นอาจทำให้อาการความดันสูง กำเริบขึ้นมาได้
11. พักผ่อนให้เพียงพอ

สิ่งที่ควรเลี่ยง เมื่อรักษาความดันสูง ด้วยตัวเอง

1. หากความดันสูง อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงอันดับแรก คือ อาหารที่มีรสจัด โดยเฉพาะรสเค็ม ที่มีโซเดียมสูง เช่น ส้มตำ ยำ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป การปรุงรสด้วยน้ำปลา ซีอิ๊ว เกลือ ผงชูรส น้ำจิ้ม ฯลฯ ควรลดปริมาณโซเดียมในมื้ออาหาร โดยจำกัดปริมาณโซเดียม ไม่เกิน 1,500 มิลลิกรัม/วัน
2. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร ที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน หมูกรอบ ของมัน ของทอด แกงกะทิ เป็นต้น
3. หลีกเลี่ยงการรับประทานขนมหวาน เบเกอรี่ ไอศกรีม
4. งดอาหารหมักดอง เช่น ผักดอง ผลไม้ดอง ปลาร้า เต้าเจี้ยว ปลาเค็ม
5. งดอาหารแปรรูปทุกชนิด เช่น หมูยอ หมูแผ่น ไส้กรอก โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง
6. งดอาหารทะเลบางชนิด เช่น กุ้ง หอยนางรม ปลาหมึก เป็นต้น
7. ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมบางชนิด เช่น ชีส เนย ครีม
8. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า ไวน์ เบียร์ ค็อกเทล
9. เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง

ยารักษาความดันสูง แผนปัจจุบัน

การรักษาความดันสูง ด้วยยาแผนปัจจุบัน เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากแรกเริ่ม ผู้ป่วยจะต้องไปพบแพทย์ เพื่อตรวจเช็คอาการก่อน พอแพทย์วินิจฉัยแล้วว่า เป็นความดันสูงจริง ก็จะทำการจ่ายยาให้ ทั้งนี้การจ่ายยา ก็ขึ้นอยู่กับระดับความดันโลหิต เพราะผู้ป่วยแต่ละราย มีค่าความดันสูง – ต่ำ ไม่เท่ากัน รวมไปถึงสาเหตุของการเกิดโรค ดังนั้นยารักษาความดันสูงแผนปัจจุบันแต่ละชนิด ก็ไม่ได้เหมาะกับทุกคน ซึ่งยารักษาความดันสูงที่นิยมใช้ เช่น

1. กลุ่มยายับยั้งการสร้างแอนจิโอแทนซิน (Angiotensin receptor blockers)

ยารักษาความดันสูง กลุ่มยายับยั้งการสร้างแอนจิโอแทนซิน เช่น ยาแคนดีซาร์แทน (Candesartan) ยาอีโพรซาร์แทน (Eprosartan) ยาโอล์มีซาร์แทน (Olmesartan) ที่มีส่วนช่วยยับยั้งเอนไซม์ ป้องกันไม่ให้เส้นเลือดตีบตัว ยับยั้งโปรตีนไม่ให้จับกับเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดขยายตัวออก ความดันโลหิตจึงลดลง โดยมีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ผื่นขึ้น เป็นต้น

2. กลุ่มยาขับปัสสาวะ (Diuretics)

ยารักษาความดันสูง กลุ่มยาขับปัสสาวะ เช่น ยาไฮโดรคลอโรธัยอาไซด์ (Hydrochlorothiazide) ยาไธอาไซด์ (Thiazide Diuretics) ยาฟูโรซีมายด์ (Furosemide) ยาอะมิโลรายด์ (Amiloride) เป็นยารักษาความดันสูง ที่มีหน้าที่ขับเกลือ ขับโซเดียมออกจากร่างกาย ผ่านทางปัสสาวะ จึงทำให้ผู้เป็นความดันสูง ปัสสาวะบ่อย อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ ระดับโปแตสเซียมในเลือดผิดปกติ และ ระดับไขมันในเลือดสูงได้

3. กลุ่มยาปิดกั้นการไหลของแคลเซียมเข้าสู่เซลล์ (Calcium Channel Blockers)

ยารักษาความดันสูง กลุ่มยาปิดกั้นการไหลของแคลเซียมเข้าสู่เซลล์ เช่น ยาไนเฟดิปีน (Nifedipine) ยาแอมโลดิปีน (Amlodipine) ยาดิลไทอะเซม (Diltiazem) มีส่วนช่วยปิดกั้นการไหลของแคลเซียม เข้าสู่เซลล์ ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว ความดันโลหิตจึงลดลงได้ แต่ผลข้างเคียง เช่น อาจทำให้ใจสั่น ท้องผูก วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ข้อเท้าบวม เป็นต้น

4. กลุ่มยาปิดกั้นเบต้า (Beta Blockers)

ยารักษาความดันสูง กลุ่มยาปิดกั้นเบต้าเช่น ยาโพรพราโนลอล (Propranolol) ยาอะทีโนลอล (Atenolol) ยาเมโตโปรลอล (Metoprolol) เป็นยาที่ใช้รักษาความดันสูง รวมถึงหัวใจเต้นปกติ ไมเกรน ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป เป็นต้น มักจะถูกนำมาใช้ในผู้ป่วย ที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว หรือ มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ที่มีความดันสูง เพื่อให้หัวใจเต้นช้าลง ทั้งนี้อาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ เช่น ซึมเศร้า เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ที่สำคัญห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง เพราะมีผลต่อปอดด้วย

5. กลุ่มยาขยายเส้นเลือดแดง (Direct-acting vasodilators)

ยารักษาความดันสูง กลุ่มยาขยายเส้นเลือดแดง เช่น ยาไฮดราลาซีน (Hydralazine) โซเดียมไนโตรพลัสไซด์ (Sodium nitroprusside) ยาไมนอกซิดิล (Minoxidil) ออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดโดยตรง ช่วยลดแรงต้านทานในหลอดเลือด จึงทำให้เลือดไหลผ่านหลอดเลือดได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงได้ โดยผลข้างเคียงของยารักษาความดันสูงกลุ่มนี้ เช่น หน้าแดง ใจสั่น ปวดศีรษะ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ยารักษาความดันสูง แผนปัจจุบัน เป็นยาเคมี ข้อดีคือ เห็นผลการรักษาเร็ว แต่มีผลข้างเคียง จึงไม่เหมาะกับการทานระยะยาว จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะยาบางกลุ่มห้ามใช้ร่วมกัน ห้ามปรับ เปลี่ยน หรือ ลดยาเองเด็ดขาด เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ที่สำคัญยารักษาความดันสูงแผนปัจจุบัน เป็นการรักษาที่ปลายเหตุ ไม่ได้เข้าไปฟื้นฟูเซลล์ในร่างกายแบบลงลึก ถึงต้นเหตุของโรค จึงจำเป็นต้องทานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเกิดการสะสมของสารเคมีในร่างกายได้.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

รู้ทันโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimers disease)
https://www.thaiquote.org/content/248428

อาหารเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดซ้ำของมะเร็งเต้านม และอาหารยังสนับสนุนการรักษามะเร็ง
https://www.thaiquote.org/content/248397

ปัญหาฟันผุ…ภัยร้ายที่ถูกมองข้าม ทันตแพทย์ จุฬาฯ เตือนให้รีบรักษาก่อนจะสายเกินไป
https://www.thaiquote.org/content/248368