‘NPV ไวรัสฝ่าวิกฤติหนอนกล้วยไม้ดื้อยา’

by ThaiQuote, 24 กุมภาพันธ์ 2566

ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยบางรายจำต้องขาดสภาพคล่องหนัก เพราะการหวนกลับมาระบาดของ ‘หนอนกระทู้หอม’ ศัตรูพืชตัวฉกาจในรอบ 10 ปี ซ้ำร้ายสารเคมีปราบศัตรูพืชทุกชนิดที่เคยใช้ได้ผลกลับใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไปด้วยปัญหา ‘การดื้อยา’ ส่งผลให้เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่าหลักล้านบาท

 

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมแก้ปัญหาเคียงข้างผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ จังหวัดนครปฐม นำ ‘ไวรัสเอ็นพีวี (Nucleopolyhedro Virus: NPV)’ ไวรัสก่อโรคในแมลงเข้าปราบหนอนกระทู้หอมในพื้นที่จนสำเร็จ

สายด่วนจาก ‘หนุ่มสวนกล้วยไม้’

จุดเริ่มต้นของการใช้ไวรัส NPV ช่วยชาวสวนกล้วยไม้ต่อสู้กับหนอนกระทู้หอม ต้องย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 2562 ที่มีโทรศัพท์สายหนึ่งติดต่อมายังกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ (AVIG) ไบโอเทค สวทช. ในตอนนั้นปลายสายสอบถามด้วยน้ำเสียงที่ไม่แน่ใจนักว่า ‘ที่นี่ผลิตไวรัส NPV ใช่หรือไม่ ใช้ปราบหนอนที่กัดกินต้นกล้วยไม้ได้ด้วยหรือเปล่า’

  

สัมฤทธิ์ เกียววงษ์ (กบ) หัวหน้าทีมวิจัย ไบโอเทค สวทช.

สัมฤทธิ์ เกียววงษ์ (กบ) หัวหน้าทีมวิจัย ไบโอเทค สวทช.

 

สัมฤทธิ์ เกียววงษ์ (กบ) หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีไวรัส เอ็นพีวี เพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ (AVIG) ไบโอเทค สวทช. เล่าว่า ตอนนั้นเจ้าของสวนกล้วยไม้วัยหนุ่มจากจังหวัดนครปฐมโทรศัพท์ติดต่อมาที่แล็บ เพื่อสั่งซื้อไวรัส NPV สำหรับนำไปกำจัดหนอนที่สวนกล้วยไม้ หลังจากพูดคุยกัน 2-3 ครั้ง เพื่อประเมินสถานการณ์และวิเคราะห์ชนิดพันธุ์ของหนอนจากภาพถ่าย (ไวรัสมีฤทธิ์จำเพาะกับชนิดพันธุ์ของหนอน) เจ้าของสวนรายนั้นก็ตัดสินใจขับรถจากนครปฐมตรงมาที่แล็บเพื่อนำตัวอย่างหนอนมาให้ทีมวิจัยจำแนกชนิดถึงที่ด้วยตัวเอง

“ความมุ่งมั่นของเขาทำให้ทีมตัดสินใจทันทีว่าต้องคว้าโอกาสนี้ไว้ โอกาสที่จะได้ทดลองใช้ไวรัส NPV ช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งก็ถือว่าตัดสินใจได้ถูก เพราะปัญหาที่เขาเผชิญรุนแรงกว่าที่คิด ตอนนั้นภาพที่ได้ไปเห็น คือ ต้นกล้วยไม้ในแปลงขนาด 60 ไร่ กำลังโดนกัดกินจนใบและดอกแหว่ง มีหนอนกระทู้หอมกระจายอยู่ทั่วสวน หากไม่รีบแก้ไขอาจไปถึงจุดที่ต้องรื้อทิ้งทั้งแปลงได้”

สาเหตุความเสียหายหนักครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการบุกเข้าทำลายของ ‘หนอนกระทู้หอม’ ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจมาแต่ครั้งเก่าก่อน แต่ยังถูกซ้ำด้วยปัญหา ‘การดื้อยา’ ที่ไม่ว่าสารเคมีชนิดไหนก็ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้

 

ศุภิสิทธิ์ ว่องวณิชพันธุ์ (คุ้น) ผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

ศุภิสิทธิ์ ว่องวณิชพันธุ์ (คุ้น) ผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

 

 ศุภิสิทธิ์ ว่องวณิชพันธุ์ (คุ้น) ผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เล่าว่า ตอนนั้นสวนกล้วยไม้โดนหนอนกระทู้หอมบุกเข้าทำลายมาเกินครึ่งปีแล้ว สารเคมีทุกสูตรเอาไม่อยู่ ‘หนอนดื้อยา’ ขณะกำลังพะวงว่าจะต้องรื้อกล้วยไม้ออกทั้งหมดเพื่อพักแปลงหรือไม่ ก็โชคดีมีรุ่นพี่คนหนึ่งในแวดวงไม้ใบแนะนำว่า ‘NPV ใช้ปราบหนอนได้นะ’ จึงรีบหาข้อมูลและติดต่อไปที่แล็บของไบโอเทคเพื่อขอซื้อมาทดลองใช้ทันที ตอนนั้นคิดแค่ว่าทำอย่างไรก็ได้ที่จะไม่ต้องพักแปลง เพราะไม่ใช่แค่เราที่เสียหายหนัก ลูกน้องจะอยู่อย่างไรถ้าไม่มีงานทำ ไม่มีเงินใช้

NPV ไวรัสปราบหนอน ‘ปลอดภัย ไม่ดื้อยา’

NPV คือ ไวรัสก่อโรคในแมลงที่มีความจำเพาะกับหนอนของแมลง 3 ชนิด คือ หนอนกระทู้หอม (SpexNPV) หนอนกระทู้ผัก (SpltNPV) และหนอนเจาะสมอฝ้าย (HearNPV) ซึ่งหนอนทั้ง 3 ชนิด เป็นศัตรูพืชหลักของพืชเศรษฐกิจไทย เช่น หอมแดง หอมใหญ่ มะเขือเทศ ผักชี หน่อไม้ฝรั่ง ผักตระกูลสลัด ผักตระกูลกะหล่ำ ส้ม องุ่น ดาวเรือง กุหลาบ รวมถึงกล้วยไม้

สัมฤทธิ์ อธิบายถึงไวรัส NPV ว่า เมื่อหนอนกินไวรัสที่ฉีดพ่นไว้ที่พืชผัก จะเกิดอาการป่วยบริเวณกระเพาะอาหาร (สังเกตได้จากสีตัวที่เปลี่ยนแปลงไป) ทำให้กินอาหารน้อยลง และตายใน 5-7 วัน โดยไม่ก่อให้เกิดการดื้อยา และด้วยกลไกการออกฤทธิ์ที่จำเพาะกับชนิดพันธุ์ของหนอนจึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานและสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาไบโอเทคได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตรและพันธมิตรพัฒนากระบวนการผลิต NPV จนพร้อมผลิตในระดับอุตสาหกรรม และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการแล้ว 2 บริษัท คือ บริษัทไบรท์ออร์แกนิค จำกัด และบริษัทบีไบโอ จำกัด

หลังจากทีมลงพื้นที่เพื่อประเมินวิเคราะห์สถานการณ์และวางแผนการรับมือกับปัญหา พบว่าหนอนกระทู้หอมระบาดหนักมาก จึงได้แนะนำให้ใช้ NPV ในสัดส่วนความเข้มข้นสูง (ความเข้มข้น 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร) เพื่อหยุดการลุกลามของหนอน

“ช่วงแรกของการใช้งานยอมรับว่าต้องอาศัยความเชื่อใจพอสมควร” ศุภิสิทธิ์ กล่าวเสริม และเล่าว่า การใช้ NPV ความเข้มข้นสูงหมายถึงค่าใช้จ่ายที่สูงตามไปด้วย ตอนฉีดพ่น NPV ครั้งแรกตอนนั้นต้องรอ 3-5 วันถึงจะเริ่มเห็นผล แต่หลังจากกำจัดรุ่นต่อรุ่นไปได้ประมาณ 2 เดือน ก็ค่อนข้างมั่นใจแล้วว่า ‘ปราบอยู่’ ตอนนี้ผ่านมา 3-4 ปีแล้ว บอกได้เลยว่า ‘ไม่กลัว รับมือได้สบายมาก’ ก่อนที่พี่กบเข้ามาช่วยเหลือเคยจ้างลูกน้องจับหนอนตัวละบาท จับกันได้มากกว่า 300 ตัวต่อวัน แต่วันนี้เดินผ่านเข้าไปในแปลงกล้วยไม้ซัก 2 แถว ประมาณ 4,000 ต้น จะเจอหนอนอย่างมากแค่ 10 ตัว อยู่ในจุดที่รับได้ (ยิ้ม) แค่คอยคุมไม่ให้หนอนรุ่นใหม่ที่หลุดเข้ามาขยายพันธุ์จนลุกลามก็พอ”

ศุภิสิทธิ์ ไม่เพียงเป็นชาวสวนที่กล้าเปิดใจรับสารชีวภัณฑ์ แต่เขายังผันตัวเป็น ‘นักทดลอง’ ปรับสัดส่วนการใช้สาร NPV จนพบสูตรที่เหมาะแก่การควบคุมหนอนกระทู้หอมในแปลงกล้วยไม้

“ด้วยความชอบคิดชอบลอง จึงได้ทดลอง ‘ปรับสัดส่วนการใช้สาร NPV’ และ ‘รูปแบบการฉีดพ่นสาร’ หลายครั้ง ตัวอย่างหนึ่งที่ทดลองแล้วสำเร็จและพี่กบได้นำไปใช้เป็นต้นแบบให้สวนอื่นๆ คือ การปรับปริมาณการฉีดพ่นจาก 10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร สัปดาห์ละ 1 ครั้งในสถานการณ์ปกติ (สัดส่วนที่เหมาะกับการควบคุมปริมาณหนอนกระทู้หอมในภาพรวมของการปลูกพืชผักทั่วไป) ให้เหลือเพียงฉีดพ่น 5 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร เดือนละ 1-2 ครั้ง เพราะจากการทดสอบพบว่าสัดส่วนเท่านี้ดีเพียงพอต่อการดูแลต้นกล้วยไม้ไม่ให้โดนหนอนกัดกินแล้ว ซึ่งผลลัพธ์นี้ก็ช่วยให้พี่น้องในแวดวงกล้วยไม้เปิดใจมาใช้ NPV มากขึ้นด้วย เพราะนอกจากหนอนจะไม่ดื้อยา ค่าใช้จ่ายยังถูกกว่าการใช้สารเคมีในระยะยาวมาก” ศุภิสิทธิ์เล่าด้วยความภูมิใจ

‘กอบกู้สวน’ ที่กำลังสลาย รายได้เป็นศูนย์

แน่นอนว่าการระบาดของหนอนกระทู้หอมไม่ได้สร้างปัญหาใหญ่ให้แก่สวนกล้วยไม้ของผู้ประกอบการรายเดียวเท่านั้น แต่ยังมีสวนกล้วยไม้อีกหลายแห่งในจังหวัดนครปฐม ต้องเผชิญกับวิกฤติไม่แพ้กัน หนึ่งในนั้นคือ บริษัทเอส.วี. ฟลอร่า ไทย ออร์คิด จำกัด ที่ทีมวิจัยถึงขั้นเอ่ยปากว่า ‘สถานการณ์หนักหนานัก’

สัมฤทธิ์ เล่าว่า ภาพสวนกล้วยไม้ที่เห็นชวนหดหู่มาก ต้นกล้วยไม้จำนวนมากเหลือแต่ก้าน สาเหตุมาจากปัญหาเดียวกัน คือ ‘หนอนดื้อยา’ ไม่ว่าจะใช้สารเคมีสูตรไหนปริมาณมากเท่าไหร่ก็ไม่สามารถกำจัดหนอนกระทู้หอมได้แล้ว ตอนนั้นเราจึงรับที่จะช่วยเหลือทันที โดยใช้พื้นที่ 1 แปลง ขนาด 75 ไร่ ในการพิสูจน์ให้เห็นว่า NPV ใช้ได้ผลจริง

คำว่า ‘เจ๊ง’ คือคำจำกัดความที่สะท้อนถึงสถานการณ์ธุรกิจกล้วยไม้ในปี 2562 จากผู้ประกอบการรายนี้ และอีกหลายรายในจังหวัดนครปฐมที่ต้องเผชิญปัญหาเดียวกัน

  

เจ้าของสวนสุรชัย (คม) บริษัทเอส.วี. ฟลอร่า ไทย ออร์คิด จำกัด

เจ้าของสวนสุรชัย (คม) บริษัทเอส.วี. ฟลอร่า ไทย ออร์คิด จำกัด

 

เจ้าของสวนสุรชัย (คม) บริษัทเอส.วี. ฟลอร่า ไทย ออร์คิด จำกัด เล่าว่า หลังจากหมดค่าสารเคมีไปหลายแสนต่อเดือนก็ยังรับมือกับหนอนกระทู้หอมไม่สำเร็จ ‘กล้วยไม้โดนกัดกินจนเหลือแต่ก้าน’ จึงตัดสินใจสั่งให้คนงานมัดรวมต้นกล้วยไม้ในแปลงหนึ่งเพื่อชั่งกิโลขายในราคาต่ำกว่าทุน และตัดสินใจใช้อีกแปลงที่โดนหนอนกัดกินหนักเป็น ‘แปลงทดลองใช้ไวรัส NPV ปราบหนอน’ ต้องยอมรับเลยว่าในมุมของผู้ประกอบการ การจะตัดสินใจใช้ NPV เป็นเรื่องที่ต้องชั่งใจหนักมาก เพราะราคาของผลิตภัณฑ์เมื่อเทียบตามปริมาณกับสารเคมีถือว่าค่อนข้างแพง และอย่างที่ทราบกันการใช้ชีวภัณฑ์ ‘เห็นผลช้า’

“ทีมวิจัยใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการใช้ NPV ปราบหนอนกระทู้หอมรุ่นแรก และใช้เวลาอีก 2 เดือนกับการกำจัดหนอนรุ่นหลังที่เพิ่งเกิดใหม่ จนแทบไม่หลงเหลือหนอนในแปลง หลังจากนั้นอีกประมาณ 2 เดือน ต้นกล้วยไม้ที่เคยเหลือแต่ก้านก็กลับมาออกดอกผลิบานอีกครั้ง จากที่แทบไม่เหลืออะไรกลายเป็นตัดดอกได้วันละหมื่นช่อ และโชคดีมากที่กล้วยไม้กลับมาออกดอกทันช่วงความต้องการในตลาดสูง ตอนนั้นตัดเพื่อส่งออกได้มากถึงวันละหลักแสนช่อ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้เราก็ยังโทรไปเล่าให้พี่กบฟังด้วยความสุขทุกครั้งที่ตัดดอกส่งออกได้มาก ตอนนี้ผ่านมา 3 ปีแล้ว อัตราการใช้ NPV ของสวนลดลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียงการฉีดพ่น 1-2 ครั้งต่อเดือนเท่านั้น เพราะจัดการได้อยู่หมัดแล้ว วันนี้เราอยากขอบคุณทีมวิจัยไบโอเทค สวทช. ที่เข้ามาช่วยให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ ‘ไม่ใช่แค่ไปต่อได้แบบเรื่อยๆ แต่ไปต่อแบบพัฒนายิ่งขึ้นไปอีก’ ตอนนี้เราเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของ สวทช. มาก หากมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ มาแนะนำ ก็ยินดีให้ใช้พื้นที่การเกษตรของบริษัทในการทดลอง ขอบคุณจริงๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงสถานการณ์”

‘NPV ใช้ดีจริง’ การันตีจากระดับเซียน

ความสำเร็จจากการใช้ไวรัส NPV กอบกู้วิกฤติการระบาดของหนอนกระทู้หอมของสวนกล้วยไม้ทั้ง 2 แห่ง เริ่มเกิดกระแสปากต่อปากถึงประสิทธิภาพ NPV ที่ได้ผลจริง และไม่เกิดการดื้อยา ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตในระยะยาวได้ แต่คำบอกเล่าของใครจะดีเท่าจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องการปลูกกล้วยไม้

  

สมลักษณ์ เลิศรุ่งวิทยาชัย เจ้าของบริษัทอาร์ วี เอ็น ฟลอร่า ไทยเอ็กซ์ปอร์ต จำกัด

สมลักษณ์ เลิศรุ่งวิทยาชัย เจ้าของบริษัทอาร์ วี เอ็น ฟลอร่า ไทยเอ็กซ์ปอร์ต จำกัด

 

สัมฤทธิ์ เล่าว่า ‘เฮีย’ หรือ คุณสมลักษณ์ เลิศรุ่งวิทยาชัย เจ้าของบริษัทอาร์ วี เอ็น ฟลอร่า ไทยเอ็กซ์ปอร์ต จำกัด เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเพาะปลูกกล้วยไม้ เพราะทำธุรกิจด้านนี้มายาวนานทั้งด้านการเพาะปลูกและการผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ในการแพ็กช่อดอกเพื่อส่งออก เป็นที่รู้จักและยอมรับของคนในแวดวงนี้ ดังนั้นถ้าทำให้เฮียยอมรับได้ ก็เหมือนได้รับใบเบิกทางในก้าวเข้าสู่วงการกล้วยไม้

สถานการณ์ปัญหาการระบาดของสวนบริษัทอาร์ วี เอ็น ฟลอร่า ไทยเอ็กซ์ปอร์ต จำกัด แตกต่างจาก 2 สวนก่อนหน้ามาก เพราะปริมาณหนอนกระทู้หอมที่พบจากการสำรวจไม่มากอย่างที่คิด แต่สำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหญ่อย่างเฮียสมลักษณ์การมีหนอนกระทู้หอมหลงเหลืออยู่ในแปลงถือว่า ‘จัดการได้ไม่ดีพอ’

สมลักษณ์ เล่าว่า ที่ผ่านมาการจัดการกับหนอนกระทู้หอมทำได้ยาก ต้องสั่งสารเคมีมาใช้ในปริมาณมาก เสียค่าใช้จ่ายหลักแสนต่อเดือนเพื่อกำจัดหนอนออกจากสวน จนตอนนี้หนอนก็เริ่มดื้อยาแล้ว ถึงอย่างนั้นก็ยอมรับตรงๆ ว่าการจะให้ลองเปลี่ยนมาใช้ชีวภัณฑ์กำจัดหนอนแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำใจได้ยาก เพราะเห็นผลช้า จะสำเร็จหรือไม่ก็ไม่มั่นใจ ที่แน่ๆ ผลผลิตเราเสียหายไปทุกวัน

“ตอนนั้นหลังจากคุ้นรุ่นน้องในวงการที่ต้องเผชิญปัญหาการกลับมาของหนอนกระทู้หอมเล่าให้ฟังว่าที่สวนได้รับการช่วยเหลือจากทีมวิจัยไบโอเทคจนสามารถรับมือกับหนอนกระทู้หอมได้สำเร็จ เราจึงตอบรับให้ทีมวิจัยเข้ามาทำการทดสอบที่สวนดูบ้าง ซึ่งผลที่ได้ก็เป็นไปตามคำกล่าวขานนะ ‘คุ้มจริงๆ’ แม้ช่วงแรกต้องลงทุนหนักตามที่อาจารย์สัมฤทธิ์บอก เพื่อลดปริมาณหนอนจนคุมสถานการณ์ได้ ค่าใช้จ่ายก็ค่อนข้างสูง แต่หลังจากนั้นเมื่อกลับสู่สถานการณ์ปกติก็ลดปริมาณ NPV ที่ใช้ลงได้กว่าครึ่ง ตอนนี้เราปรับมาใช้เทคนิคฉีดพ่นตามรอบในสัดส่วนที่เราวางไว้เพื่อควบคุมไม่ให้มีหนอนรุ่นใหม่มากัดกินจนเสียหายแล้ว อาจารย์บอกไว้นะว่าสามารถลดอัตราส่วนและปริมาณการฉีดลงเพื่อลดต้นทุนได้ แต่เราเลือกแล้วว่าจะใส่ตามสูตรที่วางไว้เพื่อให้มั่นใจในผลผลิต ‘เอาให้สบายใจ’ (ยิ้ม) เพราะอย่างไรต้นทุนที่ลงไปอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ ถูกกว่าใช้สารเคมี ถ้ามีเพื่อนในแวดวงเดียวกันเจอปัญหาหนอนกระทู้หอมบุกจะแนะนำให้ใช้แน่นอน เพราะใช้แล้วได้ผลจริง” สมลักษณ์ เล่าด้วยใบหน้ายิ้มแย้มสะท้อนถึงความสบายใจระหว่างพาเดินชมสวน

“ครั้งแรกที่เจอเฮียแตกต่างจากวันนี้มาก เพราะตอนนั้นเฮียมีแต่สีหน้าที่ตึงเครียดและคำบ่นด้วยความทุกข์ใจ แต่วันนี้นอกจากเฮียจะมีรอยยิ้มให้แล้วยังบอกด้วยว่า ‘ผลประกอบการดี’ ” สัมฤทธิ์ กล่าวเสริมด้วยความภูมิใจ ก่อนจะกล่าวทิ้งท้ายถึงปัจจัยที่นำมาสู่ความสำเร็จว่า

“คำที่ทีมวิจัยใช้บอกแก่ผู้ประกอบการหรือเกษตรกรเสมอ คือ ‘ศัตรูพืชชนิดนี้ ยกให้เป็นหน้าที่เรา’ เพราะทีมวิจัยทราบดีว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญที่สุดคือ ‘คุณภาพของผลผลิต’ ดังนั้นหากมีวิธีการใดจะช่วยทำให้ผลผลิตมีคุณภาพมากขึ้นและลดต้นทุนการผลิตได้ ผู้ประกอบการก็ต่างยินดีเปลี่ยน เพียงแต่เราต้องพิสูจน์ให้เห็นและเชื่อว่า ‘สิ่งที่เราเสนอให้ใช้หรือวิธีการที่เสนอให้ทำนั้นดีจริงๆ’ โดยการให้ความรู้และคำแนะนำในการทำงาน ลงมือทำให้เขาเห็น คอยช่วยเหลืออยู่เคียงข้าง รวมถึงเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดไปด้วยกัน หลังจากนั้นเมื่อคนกลุ่มหนึ่งทำได้สำเร็จแล้ว ก็จะเกิดการบอกต่อองค์ความรู้ สร้างแรงกระเพื่อมในการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ต่อไป”

นอกจากการร่วมเดินเคียงข้างผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ที่จังหวัดนครปฐมแล้ว ทีมวิจัยและนักวิชาการจาก สวทช. รวมถึงหน่วยงานพันธมิตร ยังร่วมกันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมถึงกระบวนการการทำงานอีกหลายผลงาน เพื่อช่วยยกระดับการเกษตรของไทยให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ตามแนวทางของโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ทั้งนี้ติดตามผลงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ www.bcg.in.th

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

'สารเคมีตลอดกาล' ที่พบในสัตว์ทั่วโลก
https://www.thaiquote.org/content/249575

“ชาไทยเย็น” ติด 10 อันดับเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์รสชาติดีที่สุดในโลก
https://www.thaiquote.org/content/249579

นวัตกรรมใหม่!...Apple สร้างความก้าวหน้าครั้งใหญ่พัฒนานาฬิกาติดตามกลูโคสในเลือดแบบไร้การทิ่มแทง
https://www.thaiquote.org/content/249572