วว. พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีกลั่นกลิ่นเพิ่มมูลค่าใบเตย

by ThaiQuote, 27 มีนาคม 2566

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ดำเนิน “โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมและนวัตกรรมอาหารปลอดภัย” นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปช่วยพี่น้องเกษตรกรจังหวัดพิษณุโลกในการปลูกเตยหอมให้มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น และผลผลิตใบเตยที่ได้มีความหอมที่เป็นเอกลักษณ์

 

นวัตกรรมทีเป็นผลสำเร็จจากการต่อยอดในการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีสารสำคัญของถั่งเช่าในรูปผลิตภัณฑ์ “ข้าวสมุนไพรที่มีสารสำคัญถั่งเช่า” ในแปลงนาปลูกข้าว โดยใช้ปุ๋ยที่ผลิตจากเศษเหลือใช้จากการเพาะเห็ดถั่งเช่าของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ คือ นายบัณฑิต ศิริสัมพันธ์ และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ตำบลหนองพระ อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก โดย วว. ได้ต่อยอดองค์ความรู้จากการนำเศษการเพาะเห็ดถั่งเช่าแปรรูปเป็นปุ๋ยสำหรับพืชชนิดอื่นๆ เช่น เตยหอม โดยนำใบเตยหอมที่ได้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำจากการกลั่นกลิ่นใบเตยภายใต้แบรนด์ “คำยวน” ผลิตโดย บริษัทธนกฤติ เอ็น เอส อินเตอร์เทรด จำกัด ที่ประกอบธุรกิจการรับซื้อใบเตยหอมจากกลุ่มเกษตรในพื้นที่ และเริ่มขยายพื้นที่ออกไปในจังหวัดใกล้เคียงเพื่อให้เพียงพอต่อการนำมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มฯ

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมและนวัตกรรมอาหารปลอดภัยของ วว. โดย ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา ว่า ได้นำร่องดำเนินโครงการ ณ จังหวัดพิษณุโลก โดยใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปพัฒนาร่วมกับเกษตรกร เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ต่อยอดฐานความเข้มแข็งเดิมในส่วนผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยรับโจทย์จากเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ปลูกเตยหอมเพื่อจำหน่ายในอุตสาหกรรมอาหาร ผลการดำเนินงานประสบผลสำเร็จในการเพิ่มปริมาณผลผลิตการปลูกเตยหอม สามารถตัดใบได้ในปริมาณที่มากกว่าและมีกลิ่นของเตยหอมที่โดดเด่นกว่า พร้อมทั้งเพิ่มมูลค่าของสินค้าทางการเกษตรด้วยการแปรรูปเป็นเครื่องดื่มน้ำจากการกลั่นกลิ่นใบเตย ทั้งนี้จากการทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มกับผู้บริโภคพบว่า มีความพึงพอใจกับรสชาติและสนับสนุนให้ผลิตจำหน่ายให้เพียงพอกับความต้องการต่อไป

“... วว. มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ในการเข้าไปช่วยส่งเสริม สนับสนุน เศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็ง ช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมและนวัตกรรมอาหารปลอดภัย เป็นหนึ่งในหลายๆ โครงการที่ วว. นำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมทั้งบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญลงพื้นที่ปฏิบัติงาน เข้าไปรับโจทย์ และตอบโจทย์ ร่วมแก้ปัญหาเคียงข้างพี่น้องเกษตรกร ผู้ประกอบการ...” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

ดร.พัชทรา มณีสินธุ์ รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. กล่าวว่า จากการปลูกใบเตยที่ใช้ปุ๋ยจากเศษถั่งเช่าภายใต้การดำเนินงานของ วว. ได้ผลผลิตที่มีความโดดเด่นคือ มีกลิ่นเฉพาะ มีเอกลักษณ์จากกลิ่นใบเตยธรรมชาติ ด้วยนวัตกรรมการผลิตน้ำดื่มที่มีความเฉพาะ ทั้งนี้อยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตรเทคโนโลยี ซึ่งโครงการฯ สนับสนุนการทดสอบวิเคราะห์วัตถุดิบและทดสอบในขั้นตอนการผลิต เพื่อช่วยให้ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ได้มาตรฐาน รวมถึงวิเคราะห์ทดสอบตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 356 เรื่องเครื่องดื่มในภาชนะที่ปิดสนิท พร้อมเพิ่มมูลค่าหาสารสำคัญจากใบเตย จัดทำฉลากโภชนาการ เพื่อขอการรับรองมาตรฐาน อย. นับเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรและผู้ประกอบการด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างเป็นรูปธรรม

นางสุภาพร จิรไกรโกศล ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการชีวเคมีและจุลชีววิทยา ศทม. วว. ในฐานะผู้ประสานงานโครงการ กล่าวถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ วว. นำไปตอบโจทย์ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการว่า ในการดำเนินโครงการฯ วว.ให้การสนับสนุนด้านการวิเคราะห์ทดสอบทั้งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมาตรฐานสินค้าให้มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ เป็นการสร้างช่องทางการแข่งขันทางการตลาด เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรและผู้ประกอบการ นอกจากนี้จะมีการดำเนินการด้านการเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากพืชชนิดอื่นๆ เพื่อต่อยอดโครงการให้เข้มแข็งและมีความต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีแผนการขยายพื้นที่ดำเนินโครงการไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศต่อไป เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของประเทศ.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

นวัตกรรมทวารเทียมจากยางพารา สำหรับผู้ป่วยขับถ่ายทางหน้าท้อง
https://www.thaiquote.org/content/249807

"WasteShark” หุ่นยนต์ที่สามารถเก็บขวดพลาสติกได้ 21,000 ชิ้นในหนึ่งวัน

https://www.thaiquote.org/content/249798

สามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในช่องว่างระหว่างรางรถไฟได้เป็นครั้งแรกของโลก

https://www.thaiquote.org/content/249788

 

 

Tag :