โครงการจัดสร้างสวนป่า “เบญจกิติ” ใช้งบ 950 ล้านบาท เพื่อดำเนินการเสร็จสมบูรณ์แล้ว ส่งมอบให้กทม.ดูแลต่อ

by ThaiQuote, 27 มิถุนายน 2566

ครม. รับทราบการดำเนินโครงการจัดสร้างสวนป่า “เบญจกิติ” เสร็จสมบูรณ์แล้ว ส่งมอบให้กทม.ดูแลต่อ ให้เป็น สวนสาธารณะ สถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างความน่าอยู่ให้กับกรุงเทพมหานคร อีกด้านหนึ่งกทม.จับมือเครือข่ายจัดหาพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้น พร้อมจัดอบรมรุกขกรประจำเขต

 

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (27 มิถุนายน 2566) รับทราบการดำเนินโครงการจัดสร้างสวนป่า “เบญจกิตติ" ระยะที่ 2-3 ซึ่งกรมธนารักษ์ได้นำส่งเงินคงเหลือจากการจัดสร้างสวนป่า“เบญจกิติ” จำนวน 3,250,281.53 บาท คืน กระทรวงการคลัง เป็นรายได้แผ่นดินแล้ว

ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรี (27 พฤษภาคม 2540) อนุมัติให้ กระทรวงการคลังใช้เงินจากรายได้แผ่นดินที่โรงงานยาสูบต้องนำส่งคลัง เพื่อเป็นค่าก่อสร้างสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” โดยการก่อสร้างแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 การจัดสร้างสวนน้ำ และส่วนที่ 2 การจัดสร้างสวนป่า โดยเมื่อการสร้างสวนสาธารณะทั้ง 2 ส่วนเสร็จและมีเงินคงเหลือ ให้กรมธนารักษ์นำส่งคืนกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป และต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติ ( 8 มีนาคม 2559 ) เห็นชอบในหลักการโครงการจัดสร้าง สวนป่า “เบญจกิติ” วงเงินจัดสร้าง 950 ล้านบาท แบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ โดยสวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 1 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2559 ระยะที่ 2 เมื่อเดือนธันวาคม 2564 และระยะที่ 3 เมื่อเดือนธันวาคม 2564 โดยมีพิธีเปิดสวนป่า ระยะที่ 2 และ 3 ในสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565

สวนป่าเบญจกิติ สวนสาธารณะใหม่ใจกลางกรุงเทพมหานคร แวดล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่ บ่อน้ำ พืชและนกนานาพันธุ์ กลายเป็นแลนด์มาร์คป่ากลางกรุงที่ดึงดูดผู้คนมาถึง 12,000 คนให้มาเยี่ยมเยือนทุกสัปดาห์ เพื่อเดินลัดเลาะในสวน ปั่นจักรยาน หรือเก็บภาพประทับใจไปโพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์

โครงการสวนป่าเบญจกิติตั้งอยู่บนพื้นที่ของโรงงานยาสูบเดิม และที่อยู่ติดกับสวนเบญจกิติที่สร้างขึ้นในช่วงสามทศวรรษก่อน เป็นป่ากลางเมืองที่ผสมผสานความทันสมัยและคลาสสิคเข้าด้วยกัน โดยคงพันธุ์พืชกว่า 1,700 ต้นในพื้นที่เอาไว้ และเสริมด้วยพันธุ์ไม้ใหม่อีก 7,000 ต้นเข้าไป เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันเป้าหมายการสร้างพื้นที่สีเขียวและสร้างความน่าอยู่อาศัยให้กับกรุงเทพมหานคร ภายในปี พ.ศ. 2573

ทั้งนี้ ในปัจจุบันรัฐบาลได้ส่งมอบพื้นที่สวนป่าดังกล่าวให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแลแล้ว ซึ่งสวนป่า “เบญจกิตติ” เป็นพื้นที่สีเขียวใจกลางกรุงเทพมหานคร และเป็นสวนสาธารณะ สวนสุขภาพ และออกกำลังกาย เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ สร้างความน่าอยู่ให้กับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ของโครงการจัดสร้างสวนป่าเบญจกิตติตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชน

กทม.จับมือเครือข่ายจัดหาพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้น

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวกรณีมีผู้ตั้งข้อสังเกตการปลูกต้นไม้ของ กทม.ส่วนใหญ่จะเน้นไม้พุ่ม ซึ่งไม่มีความคงทนถาวรเหมือนต้นไม้ใหญ่ว่า สสล.ให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมและการอนุบาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันได้จัดทำคู่มือปลูกต้นไม้ให้หน่วยงานในสังกัด กทม.ที่ดำเนินงานด้านการเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง โดยแนะนำการคัดเลือกชนิดพันธุ์ไม้ให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ อีกทั้งขับเคลื่อนนโยบายในช่วงแรก โดยเน้นการปลูกต้นไม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งอาจมีข้อจำกัดด้านพื้นที่

อย่างไรก็ตาม กทม.อยู่ระหว่างประสานหน่วยงานและเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อจัดหาพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้นเพิ่มเติมให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของนโยบายดังกล่าว รวมถึงจัดโครงการฝึกอบรมด้านรุกขกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ ตามนโยบายจัดหารุกขกรมืออาชีพดูแลต้นไม้ประจำเขต ดำเนินการตัดแต่งและดูแลรักษาต้นไม้ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการด้านรุกขกรรม เพื่อการปลูกและดูแลรักษาต้นไม้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กทม.มีบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านการตัดแต่งต้นไม้ที่ได้รับการอบรมความรู้ด้านรุกขกรรมและการตัดแต่งต้นไม้ในเมือง โดย สสล.ได้จัดการอบรม ทบทวน และต่อยอดด้านการตัดแต่งรุกขกรรมและการประเมินสุขภาพต้นไม้เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะความรู้และความเชี่ยวชาญ

นอกจากนี้ ในช่วงที่มีประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาเตือนพายุลมกระโชกแรง สสล.ได้ประสานแจ้งเตือนและขอความร่วมมือสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ตรวจสอบต้นไม้ ประเมินความเสี่ยง เพื่อตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ในที่สาธารณะ ทางเท้า เกาะกลาง รวมถึงสวนสาธารณะในความรับผิดชอบของ กทม.หากพบความเสี่ยงมีกิ่งแห้ง กิ่งผุ ให้เร่งตัดแต่งและสางโปร่งพุ่มใบหนาทึบต้านลมให้ลมผ่านได้ ป้องกันการโค่นล้ม และค้ำยันกรณีพบต้นเอนเอียงเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

90 เปอร์เซ็นต์ของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของโลกเผชิญกับความเสี่ยงอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากมนุษย์
https://www.thaiquote.org/content/250564

วว. เจ๋งพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนังผู้สูงอายุ จากพืชตระกูลเมล่อน “แตงไทย”
https://www.thaiquote.org/content/250562

รัฐบาลติดตามสถานการณ์น้ำและแผนบริหารจัดการน้ำใกล้ชิด พร้อมรับมือจากเอลนีโญลากยาวถึงปีหน้า
https://www.thaiquote.org/content/250553