“ดร.ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์” แห่งเบทาโกร คว้ารางวัล บุคคลต้นแบบสัมมาชีพ ปี 2566 มูลนิธิสัมมาชีพเตรียมจัดงานมอบรางวัล 17 พ.ย.นี้

by ThaiQuote, 10 สิงหาคม 2566

มูลนิธิสัมมาชีพ มีมติเอกฉันท์เลือก ดร.ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานกิตติมศักดิ์ บมจ.เบทาโกร และบริษัทในเครือ และประธานกรรมการบริษัท เบทาโกร โฮลดิ้ง จำกัด เป็นผู้ที่เหมาะสมกับรางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพ ประจำปี 2566 ในฐานะนักธุรกิจผู้โดดเด่นด้านการบริหารธุรกิจและพัฒนาชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดธุรกิจจะเติบโตยั่งยืนได้ ต้องดูแลชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม และยึดแนวทาง “ความถูกต้อง ต้องมาก่อนกำไร” เตรียมมอบรางวัล 17 พ.ย.นี้

 

 

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพมีมติเห็นชอบให้ ดร.ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานกิตติมศักดิ์ บมจ.เบทาโกรและบริษัทในเครือ และประธานกรรมการบริษัท เบทาโกร โฮลดิ้ง จำกัด เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับรางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพประจำปี 2566 ซึ่งนับเป็นบุคคลที่ 9 ตั้งแต่มีการมอบรางวัลเมื่อปี 2552 เป็นต้นมา เนื่องจากเห็นว่า ดร.ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ เป็นบุคคลผู้ประกอบอาชีพจนประสบความสำเร็จตามแนวทางสัมมาชีพ จากแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่ ดร.ชัยวัฒน์ ยึดมั่นและใช้เป็นแนวทางบริหารองค์กรที่ว่า “ความถูกต้อง ต้องมาก่อนกำไร” และสิ่งดังกล่าวถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นในการดำเนินธุรกิจของเบทาโกร จนเป็นจุดประสงค์ในการดำเนินธุรกิจที่ต้องการส่งมอบอาหารที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงในราคาที่เป็นธรรม รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาชุมชน สังคม และดูแลสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิด “ธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ต้องพัฒนาชุมชนและสังคมให้เติบโตไปพร้อมกัน” ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ตรงกับคุณสมบัติของบุคคลต้นแบบสัมมาชีพ

“ดร.ชัยวัฒน์ เป็นบุคคลต้นแบบสัมมาชีพที่มีความโดดเด่นในด้านการทำธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ท่านได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็นผู้ยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมอาหารของไทย จนทำให้บริษัทเติบโต เป็นธุรกิจอาหารและเกษตรอุตสาหกรรมชั้นนำครบวงจร นำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาบริหารจัดการน้ำ พลังงาน ของเสีย มาใช้ เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการทำธุรกิจ

ขณะเดียวกัน เบทาโกรมีโครงการพัฒนาชุมชนที่โดดเด่นอย่างช่องสาริกาโมเดล ซึ่งถือเป็นการทำงานพัฒนาชุมชนแบบครบวงจร ทำให้ชุมชนในหลายพื้นที่หลุดพ้นความยากจน และมีหลายหน่วยงานมาศึกษาดูงาน เพื่อนำวิธีการไปเผยแพร่ ผลงานของท่านจึงถือเป็นต้นแบบที่ควรค่าแก่ยกย่องแม้ว่าขณะนี้ท่านจะจากไปแล้ว” นายประเสริฐ กล่าว

สำหรับเกณฑ์การพิจารณารางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพของมูลนิธิสัมมาชีพ ประกอบด้วย การเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับหรือยกย่องจากสาธารณชนว่าเป็นผู้ที่มีคุณงามความดี ซื่อสัตย์ สุจริต ประสบความสำเร็จในการบริหารธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักการทำธุรกิจบนความถูกต้องดีงาม ไม่เอาเปรียบผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นนักธุรกิจที่ส่งเสริมเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมชุมชน สังคม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างงานหรือแก้ปัญหาในชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม

ด้านประวัติของ “ดร.ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์” เกิดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 ที่ อ.เมือง จ.สระบุรี โดยคุณพ่อของเขาคือ “กิมฮง แซ่แต้” ได้เดินทางจากเมืองจีนมาตั้งรกรากในไทย เมื่อโตขึ้น ดร.ชัยวัฒน์ ได้เข้าศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล จากนั้นไปศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ St. Steven College ฮ่องกง ก่อนกลับมาทำธุรกิจโรงสีไฟของครอบครัว โดยเป็นผู้จัดการในวัยเพียง 20 ปี

ในปี 2516 ดร.ชัยวัฒน์ ได้เข้ามาบริหารบริษัทเบทาโกรที่ดำเนินธุรกิจด้านการผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ ขณะนั้นบริษัทเบทาโกรประสบปัญหาด้านระบบงานและการบริหาร ส่วนดร.ชัยวัฒน์เองก็ไม่มีความรู้ด้านธุรกิจอาหารสัตว์ แต่ด้วยความที่เป็นคนชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ เครื่องจักร จึงสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ทำให้ธุรกิจเติบโตได้ดี

ไม่เพียงเท่านั้น เขายังริเริ่มพัฒนาธุรกิจใหม่ของเบทาโกรในหลายด้าน เช่น วางรากฐานและพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมอาหาร อุตสาหกรรมการเกษตร โดยนำเทคโนโลยีการผลิตอาหารสัตว์ที่ทันสมัยมาใช้ในประเทศไทยเป็นรายแรก การพัฒนาสายพันธุ์สุกร เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์โปรตีนคุณภาพ โดยเช่าเหมาลำนำเข้าสุกรสายพันธุ์แท้ชั้นดีจากต่างประเทศ เพื่อนำมาวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในไทยจนได้สุกรพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพ การเลี้ยงไก่ในโรงเรือนระบบปิด การส่งออกไก่แปรรูป และโครงการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ทั้งไส้กรอก อาหารพร้อมปรุงและพร้อมรับประทาน

จากวิสัยทัศน์ของ ดร.ชัยวัฒน์ ที่มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร โดยเพิ่มศักยภาพธุรกิจเบทาโกรด้วยมาตรฐานต่างๆ จนได้รับการรับรองในระดับสากล ส่งผลให้เบทาโกรเติบโตต่อเนื่อง และยกระดับสู่ธุรกิจอาหารและเกษตรอุตสาหกรรมชั้นนำครบวงจร ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่าอาหาร ตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำ ได้แก่ การผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และสารเสริมสำหรับสัตว์ ปศุสัตว์ ธุรกิจกลางน้ำ ได้แก่ การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ และปลา และอาหารแปรรูปที่เกี่ยวข้อง และธุรกิจปลายน้ำ การส่งมอบผลิตภัณฑ์ไปยังลูกค้า คู่ค้าและผู้บริโภคผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลายทั่วประเทศ และส่งออกไปมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก

ความสำเร็จที่เกิดขึ้น มีพื้นฐานมาจากแนวคิดในการดำเนินธุรกิจและการบริหารองค์กรของ ดร.ชัยวัฒน์ ที่ว่า “ความถูกต้อง ต้องมาก่อนกำไร” และเป็นปรัชญาในการดำเนินธุรกิจซึ่งถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนสะท้อนมาเป็นจุดประสงค์ในการดำเนินธุรกิจของเบทาโกรที่ต้องการส่งมอบอาหารที่มีคุณภาพมากกว่า และความปลอดภัยที่สูงกว่า ในราคาที่เป็นธรรม เพื่อชีวิตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน

นอกจากนี้ ดร.ชัยวัฒน์ ยังให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG (Environment, Social, and Governance) โดยคำนึงถึงการลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ ด้วยการผสานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ากับการพัฒนา เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงสู่ผู้บริโภคอย่างมีจริยธรรม และมีความสมดุลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน

โดยในด้านสิ่งแวดล้อมได้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความยั่งยืนระยะยาว ทั้งการบริหารจัดการน้ำ ของเสีย และพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มากกว่า 35 สถานประกอบการทั่วประเทศ ซึ่งสามารถผลิตพลังงานสะอาดได้กว่า 40 เมกะวัตต์ สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงกว่า 22,000 ตัน ช่วยประหยัดต้นทุนและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปได้พร้อมกัน รวมถึงเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์จากกระดาษที่ได้จากป่าปลูก ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คงคุณภาพความแข็งแรงรองรับการบรรจุได้เช่นเดิม ขณะที่สามารถช่วยลดการใช้พลาสติกได้เป็นจำนวนมาก

ดร.ชัยวัฒน์ เชื่อว่าธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ต้อง “พัฒนาชุมชนและสังคมให้เติบโตไปพร้อมกัน” ด้วยเหตุนี้จึงริเริ่มแนวทาง “การพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic Area-based Community Development)” ซึ่งเป็นแนวคิดการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และการศึกษา โดยนำเครื่องมือการจัดการด้านการเพิ่มผลผลิต มาสร้างกลไกการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับชุมชนผ่านความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น และสถาบันการศึกษา

โครงการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวมได้เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2550 ที่ ต.ช่องสาริกา อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งฐานการผลิตสำคัญด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของเบทาโกร และได้กลายมาเป็นแผนแม่บทการพัฒนาชุมชนของเบทาโกรที่เรียกว่า “โมเดลช่องสาริกา” เพื่อสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ พร้อมกับสนับสนุนให้เกิดจิตอาสา ต่อยอดการเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่น จากนั้นจึงได้ขยายผลโมเดลช่องสาริกาไปสู่การพัฒนาพื้นที่ชุมชนโดยรอบสถานประกอบการ โรงงาน และฟาร์มของเบทาโกรทั่วประเทศ โดยร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่

นอกจากนี้ ด้วยแนวคิดและเจตนารมณ์ในการพัฒนาสังคม ดร.ชัยวัฒน์ได้สนับสนุนให้ผู้บริหารและพนักงานเบทาโกร ร่วมกันก่อตั้ง “ชมรมสายธาร” เมื่อปี 2537 เพื่อช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาสในสังคม จนต่อมาได้จัดตั้งเป็น “มูลนิธิสายธาร” ในปี 2539 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือสงเคราะห์และบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ ทั้งยังให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษา บุคคล หรือองค์กรที่ขาดทุนทรัพย์ พร้อมทั้งส่งเสริมช่วยเหลือผู้กระทำความดี ตลอดจนดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์อื่นๆ หรือร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์

ในด้านการดำเนินชีวิตส่วนตัว ดร.ชัยวัฒน์ ได้ดำรงตนเป็นแบบอย่างอันดีงามแก่พนักงานและบุคคลทั่วไป ทั้งด้านการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย การประกอบอาชีพด้วยความวิริยะอุตสาหะ การมีครอบครัวที่อบอุ่น การสนับสนุนบุตรธิดาทุกคนให้มีการศึกษาสูง โดยสำเร็จระดับปริญญาทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงอบรมบุตรธิดาให้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต มีความจงรักภักดี ตอบแทนพระคุณแผ่นดินเกิด โดยหลักการดำเนินชีวิตของ ดร.ชัยวัฒน์ ที่สามารถเป็นแบบอย่างเพื่อความสำเร็จ ได้แก่ การมีความตั้งใจจริงและอดทน เมื่อตั้งใจทำสิ่งใดแล้ว ต้องทำให้สำเร็จ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค การมีความจริงใจและความบริสุทธิ์ใจ ในการทำประโยชน์ให้แก่สังคมและผู้อื่น รวมถึงการมีความรอบรู้ ซึ่งเกิดจากการใฝ่รู้และหมั่นสั่งสมเพิ่มพูนอยู่ตลอดเวลา ตลอดจนมีความรอบคอบ รู้จักเรียนรู้ หาวิธีป้องกันแทนการแก้ไข และสุดท้ายการจะเป็นผู้นำที่ดี ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาอีกด้วย

ดร.ชัยวัฒน์ ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา สิริอายุ 88 ปี