BKPเซ็นMOU ผู้ส่งออกถั่วเหลืองสหรัฐ ซื้อถั่วจากแหล่งปลูกจัดการยั่งยืนไม่รุกป่า

by ThaiQuote, 29 กันยายน 2566

BKP ลงนามMOU สภาการส่งออกถั่วเหลืองแห่งสหรัฐอเมริกา (USSEC) ยกระดับการจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ยั่งยืน ตรวจสอบแหล่งผลิต เพาะปลูกถั่วไม่รุกล้ำผืนป่า เพื่อเสริมความมั่นใจตอบคำถาม ขับเคลื่อนห่วงโซ่ยั่งยืนทั้งต้นน้ำยันปลายน้ำ ปูทางสู่เป้าหมาย Net-Zero ในปี 2050

 

 

 

นายไพศาล เครือวงศ์วานิช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันใส่ใจในคุณภาพของสินค้าและความยั่งยืนเพิ่มขึ้น ความร่วมมือกับ สภาการส่งออกถั่วเหลืองแห่งสหรัฐอเมริกา (USSEC) เพื่อบริหารจัดการด้านความยั่งยืนของถั่วเหลืองที่ใช้ในการผลิตอาหารและวัตถุดิบอาหารสัตว์ ภายใต้แนวทาง U.S. Soy Sustainability Assurance Protocol (SSAP) และยกระดับความโปร่งใสของห่วงโซ่อุปทาน เพื่อต่อยอดเป้าหมายในการจัดหาอย่างยั่งยืน สนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าถึงข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตอกย้ำความมุ่งมั่นร่วมกันของทั้งสององค์กรในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อ สิ่งแวดล้อม ชุมชน และห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหารของโลก


นอกจากนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้จะครอบคลุมถึงการแบ่งปันความรู้และข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดหาวัตถุดิบอาหารและอาหารสัตว์ยั่งยืน ตลอดจน USECC ในฐานะเป็นผู้ผลิตโปรตีนที่ยั่งยืนยังได้แบ่งปันความเชี่ยวชาญทางเทคนิค ประสบการณ์และความสำเร็จในการผลิตถั่วเหลืองอย่างยั่งยืน การจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า และร่วมปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ

 

 

จิม ซัทเทอร์ (Jim Sutter) ประธานคณะผู้บริหารของ USSEC กล่าวว่า บันทึกความเข้าใจนี้ เป็นการเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นของสหรัฐอเมริกาและไทย ภายใต้ความร่วมมือด้านการเกษตรและอาหาร USSEC จะแบ่งปันความรู้ และเครื่องมือเพื่อสนับสนุนเป้าหมายด้านความยั่งยืนของเครือ ซีพี และการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหาร อาหารสัตว์ และปศุสัตว์ของประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น

 

ทิโมธี โลห์ (Timothy Loh) ผู้อำนวยการภูมิภาค USECC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย กล่าวเสริมว่า เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองของสหรัฐฯ มีส่วนร่วมในภาคการเกษตรและอาหารของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่ปี 2513 และนับตั้งแต่เปิดสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยในปี 2537 USECC ให้บริการด้านการค้าและความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค การแบ่งปันความรู้เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ในประเทศนั้น ๆ การเป็นพันธมิตรกับ BKP นับเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมไปสู่แนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนระดับโลก

 

 

 

ทั้งนี้ ถั่วเหลืองที่ผลิตในสหรัฐอเมริกามีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ที่ต่ำกว่าแหล่งผลิตอื่น ๆ หรือโปรตีนจากพืชชนิดอื่น

 

นอกจากนี้กระบวนการผลิตถั่วเหลืองในสหรัฐอเมริกายังไม่ได้มาจากการตัดไม้ทำลายป่า โดยระหว่างปี 2540 ถึงปี 2560 พื้นที่ป่าไม้ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1.83 ล้านเอเคอร์ (ราว 4.6 ล้านไร่) ในปัจจุบัน 15 % ของพื้นที่เพาะปลูกในสหรัฐฯ ได้จัดสรรไว้เพื่อการอนุรักษ์ การพัฒนาป่าไม้ และที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า นอกจากนี้ เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองในสหรัฐฯ ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำชลประทาน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน การอนุรักษ์ดิน เพิ่มผลผลิตจากการใช้ที่ดินเท่าเดิม ซึ่งช่วยสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทาน.