ส.อ.ท.เปิดทางรอด “รถยนต์สันดาปฯ” รั้งฐานผลิตโลก คู่ ก้าวสู่ความเป็นกลางคาร์บอน

by ESGuniverse, 13 ธันวาคม 2566

ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” บอกชัดว่า ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์สู่ ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle - EV) ตามเทรนด์โลกเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รัฐบาลจะไม่ทิ้ง “ยานยนต์สันดาปภายใน” (Internal Combustion Engine) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ดั้งเดิมไว้ข้างหลัง

 

 

เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์สันดาปภายในที่สำคัญของโลก จากการเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานประกอบยานยนต์ในไทยของต่างชาติ โดยเฉพาะค่ายยานยนต์ญี่ปุ่น และยังทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องของคนไทยตามมามากมายที่สำคัญคือ “อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์”

  

 

จึงนับว่ายานยนต์สันดาปภายใน มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในหลายทศวรรษที่ผ่านมา และยังคงเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งต้องอาศัยการ “เตรียมความพร้อม” ผ่านมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ จนทำให้นักลงทุนในต่างประเทศเริ่มมาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 11% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรม เกิดการจ้างงานกว่า 750,000 คน และเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกด้วยการมีปริมาณการผลิตลำดับที่ 10 ของโลก และมีการส่งออกว่า 170 ประเทศทั่วโลก

ล่าสุด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้จัดตั้ง Cluster of FTI Future Mobility-ONE หรือ CFM-ONE เพื่อจัดทำ “ข้อเสนอ” (Action Plan) ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยควบคู่กับภาครัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ไทยยังคง “รักษาการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของโลก” ไปพร้อมกับ “การก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutrality) และ “ยกระดับชิ้นส่วนรถยนต์ไทย” เพื่อมุ่งเข้าสู่ “ห่วงโซ่อุปทาน” (Supply Chain) ของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Parts Transformation)

 

 

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ส.อ.ท. มีนโยบายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยจากอุตสาหกรรมดั้งเดิม (First Industries) ประกอบไปด้วย 46 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สู่อุตสาหกรรมใหม่ (Next-Gen Industries) ซึ่งมี “อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม S-Curve

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2566 ส.อ.ท.ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยนายเศรษฐาขอให้ ส.อ.ท. จัดทำ Action Plan ในแต่ละข้อเสนอ รวมถึงแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยเฉพาะประเด็นยานยนต์สันดาปภายใน จึงเป็นที่มาของ ส.อ.ท. ในการจัดตั้ง Cluster of FTI Future Mobility-ONE หรือ CFM-ONE ในครั้งนี้

  

 

ด้าน อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การจัดตั้ง Cluster of FTI Future Mobility-ONE หรือ CFM-ONE มีจุดประสงค์หลักเพื่อสร้าง “ความร่วมมือ” ระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน กว่า 14 กลุ่มอุตสาหกรรม รวมทั้งสภาอุตสาหกรรมจังหวัด และหน่วยงานภายนอก เช่น สถาบันยานยนต์ สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย และเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ให้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว

 

 

 

ยุพิน บุญศิริจันทร์ ประธาน Cluster of FTI Future Mobility-ONE และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ด้วยบริบทของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ประสบกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิตในบริบท Technology Disruption รวมถึงมีการออกมาตรการที่ชัดเจนว่าตั้งแต่ปี 2573 (ค.ศ. 2030) จะมีการขายยานยนต์ประเภทสันดาปภายในให้ลดลง โดยเฉพาะในประเทศยุโรป และสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยจึงต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยยกระดับชิ้นส่วนยานยนต์ไทยเพื่อมุ่งการเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

 

 

 

คาดปี 2030 ยานยนต์สันดาปภายในยังผลิต 70%

โดย Cluster of FTI Future Mobility-ONE มีแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทย ภายใต้แนวคิด “Strong global production hub with industry transformation” โดยคาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2573 (ค.ศ. 2030) รวม 2,500,000 คัน จะมีสัดส่วนการผลิตที่เป็นยานยนต์ Future ICE (Future Internal Combustion Engine ประกอบด้วย ยานยนต์สันดาปภายใน, HEVยานยนต์ไฮบริด, PHEV ยานยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และ REEV ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า) คิดเป็น 70% หรือ 1,750,000 คัน

ส่วนที่เหลืออีก 30% คือการผลิตยานยนต์ประเภทไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ ZEV (Zero Emission Vehicle หมายถึง ซึ่งเป็นกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV: Battery Electric Vehicle และ FCEV: Fuel Cell Electric Vehicle คิดเป็น 750,000 คัน)

โดยเห็นว่า การที่จะส่งเสริมให้มีการผลิตยานยนต์ทั้งประเภท Future ICE ยานยนต์ประเภท ZEV และผลักดันให้ชิ้นส่วนยานยนต์ไทยปรับตัวสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ (Parts Transformation) นั้น ภาครัฐจะต้องมีแนวทางในการส่งเสริม มาตรการสนับสนุนที่จำเป็น ผ่านการนำเสนอ Action Plan ของส.อ.ท. ประกอบด้วย

 

 

 

ยานยนต์ Future ICE : รักษา-ต่อยอด
ฐานผลิตยานยนต์ – ชิ้นส่วน แข่งโลก

1.ยานยนต์ประเภท Future ICE มีเป้าหมายต้องการรักษาและต่อยอดความเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ผลักดันยอดการผลิตยานยนต์ประเภท Future ICE เป็น 70% ของการผลิตยานยนต์ในไทยทั้งหมดในปี 2573 ข้อเสนอประกอบด้วย

     -ผลักดันให้เกิดการขยายตลาดการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนในกลุ่มอะไหล่ทดแทน (Replacement Equipment Manufacturing: REM) ไปยังกลุ่มประเทศที่ยังมีการใช้เครื่องยนต์ประเภทสันดาปภายใน ผ่านมาตรการเร่งรัดการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ในกลุ่มประเทศที่ยังมีการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ และอเมริกาใต้ โดยมีเป้าหมายส่งออกยานยนต์จำนวน 1.5 ล้านคันในปี 2573 และส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิต REM หรือส่วนแต่งรถ (Performance Parts) รวมถึงจัดทำแผนการพัฒนา โดยมีเป้าหมายส่งออกชิ้นส่วน REM เพิ่มขึ้น 200% ในปี 2573

     - ส่งเสริมการผลิตยานยนต์ประเภท Future ICE เพื่อรักษาสัดส่วนความคุ้มทุน (Economy of Scale) ให้สามารถแข่งขันได้ โดยหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อออกมาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ในกลุ่ม Future ICE (Product champion, HEV, PHEV, REEV)

     -สนับสนุนแนวทางการกำหนดโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสำหรับยานยนต์ที่จะบังคับใช้ปี 2569

     -ผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐมีการกำหนดมาตรฐานมลพิษ ได้แก่ Euro 5 สำหรับรถจักรยานยนต์ และ Euro 6 สำหรับรถยนต์ขนาดใหญ่ให้มีความเหมาะสม

ในส่วนของการ “ยกระดับ” อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ยานยนต์สมัยใหม่นั้น มีข้อเสนอว่า

     -หารือร่วมกับ BOI เพื่อสร้างกลไกการจับคู่บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยกับต่างชาติ เพื่อเพิ่มโอกาสสำหรับการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ (Localization) และต่อยอดสู่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กำลัง (Power Electronic Parts)

     -จัดสรรงบประมาณสำหรับการฝึกอบรมแรงงานเพื่อเข้าสู่ยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อเพิ่มทักษะด้านอิเล็กทรอนิกส์ (Electrical Skills)

     -สนับสนุนการพัฒนาสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในรูปแบบกองทุน หรือการกำหนดมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุน และการเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการคาร์บอนจากประเทศต่างๆ

     -สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness)

โดยข้อเสนอยกระดับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ดังกล่าว มีเป้าหมายมีแรงงานเพิ่มทักษะใหม่ 30% ในปี 2570 มีการเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กำลัง (Power Electronics Part) ภายในประเทศ 30% ผู้ประกอบการ 50% ที่ได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product : CFP) ในปี 2571 และเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการสำหรับนโยบายของค่ายยานยนต์ที่กำหนดนโยบาย Carbon Neutral ในปี 2578

 

 

 

ยานยนต์ ZEV : สร้างยานยนต์-ชิ้นส่วนสมัยใหม่
รับความเป็นกลางคาร์บอน

2.ยานยนต์ประเภท ZEV เพื่อสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนสมัยใหม่ เตรียมพร้อมทิศทาง Carbon Neutrality ข้อเสนอประกอบด้วย

     -ผลักดันนโยบายและมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบนิเวศ (Ecosystem) โดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ สนับสนุนและอำนวยความสะดวกมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในทุกมิติ ภายใต้เป้าหมายยอดการผลิต ZEV เป็น 30% ของทั้งหมดในปี 2573

     -ขยายการส่งออก ZEV ไปยังประเทศที่มีศักยภาพ โดยหารือร่วมกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเร่งรัดการเจรจาข้อตกลง FTA โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีแนวทางการยกเลิกการใช้เครื่องยนต์ ICE เช่น สหภาพยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา เพื่อผลักดันให้ปริมาณการส่งออกยานยนต์ทั้งหมด จำนวน 1.5 ล้านคัน ในปี 2573

     -สนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่ผลิต EV Niche Market เช่น รถเมล์ เรือ รถบัส รถตุ๊กตุ๊ก โดยนำเสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับผู้ประกอบการที่ผลิต EV Niche Market เช่น รถเมล์ เรือ รถบัส รถตุ๊กตุ๊ก ภายใต้เป้าหมายส่งเสริมให้ผู้ผลิตที่เป็นคนไทยมีองค์ความรู้ในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

 

 

 

สุพจน์ สุขพิศาล เลขาธิการ Cluster of FTI Future Mobility-ONE และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องได้รับการสนับสนุนในช่วงเปลี่ยนผ่านในเชิงเทคโนโลยี เพื่อรักษาธุรกิจ การจ้างงาน พร้อมทั้งการยกระดับการผลิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต

โดยข้อเสนอจะเหมาะสมกับความสามารถของผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ที่สามารถพัฒนาได้ รวมถึงผู้ประกอบการที่จะต้องเปลี่ยนธุรกิจไปประเภทอื่นๆ ใกล้เคียง

  

 

พลิก “ชิ้นส่วนยานยนต์ไทย”
ปรับตัวสู่ชิ้นส่วนอุตฯใหม่ใกล้เคียง ( Parts Transformation)

3.การผลักดันให้ชิ้นส่วนยานยนต์ไทยปรับตัวสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ (Parts Transformation) ข้อเสนอประกอบด้วย

     -การผลักดันให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วน พัฒนาไปอุตสาหกรรมใกล้เคียงเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ เปลี่ยนผ่านตัวเองได้ เช่น ระบบราง เครื่องมือแพทย์ โดยหารือร่วมกับกรมบัญชีกลางในผลักดันมีการกำหนดสัดส่วนปริมาณการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ (local content) หรือออกนโยบายสนับสนุนการซื้อหรือผลิตเพื่อให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนสามารถเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอื่นรวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสินค้าใหม่นอกอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ผลิตโดยผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อการสนับสนุนการทำธุรกิจใหม่ของผู้ผลิตชิ้นส่วน ICE ในปัจจุบัน

     -เพิ่มทักษะแรงงานด้านเครื่องกล (Mechanical Skills) ไปสู่ด้านอิเล็กทรอนิกส์ (Electrical Skills) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมใหม่ (รวมถึงการกลับเข้าไปสู่ยานยนต์อัตโนมัติ (Connected and Autonomous Vehicle :CAV) และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กำลัง (Power Electronics) ได้ด้วย

และนี่คือแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยของส.อ.ท. ต่อภาครัฐ ในช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญนี้ ภายใต้เป้าหมายการรักษาการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของโลก” ไปพร้อมกับ “การก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutrality) และ “ยกระดับชิ้นส่วนรถยนต์ไทย” เพื่อมุ่งเข้าสู่ “ห่วงโซ่อุปทาน” (Supply Chain) ของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Parts Transformation) ซึ่งถือเป็นความร่วมมือที่ดีของภาครัฐ –เอกชน ในการแสวงหาโมเดลรอดให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมดั้งเดิมที่เป็นอีกเส้นเลือดใหญ่ของอุตสาหกรรมไทย ที่มองข้ามไม่ได้