ส.อ.ท.อุตฯดิ้นสู้ รับมือ CBAM ลงทุนเหล็กพลังงานสะอาด ทางรอดส่งออก 2.5พันล้านบาท

by ESGuniverse, 12 กุมภาพันธ์ 2567

กลุ่มอุตฯ เหล็ก ดันการผลิต Green Steel พัฒนานวัตกรรม เหล็กรักษ์โลก ทางรอดส่งออกเหล็กไทยมูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท กระตุ้นผู้ประกอบการตื่นตัววางมาตรฐานรับมือ CBAM ลงทุนพลังงานทางเลือกต้นน้ำการผลิตลดคาร์บอน

 

จากมาตราการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) โดยเริ่มมีการบังคับเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) ตั้งแต่ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ในกลุ่มสินค้าเป้าหมาย 6 กลุ่ม ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม และไฮโดรเจน มีข้อกำหนดต้องรายงานปริมาณการนำเข้า รวมถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนทางตรงและทางอ้อม (Embedded Emission) ของสินค้า โดยจะครอบคลุมการบังคับใช้แท้จริงอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ในวันที่ 1 มกราคม 2569 ซึ่งผู้นำเข้าในยุโรปจะต้องซื้อ CBAM Certificate ตามปริมาณการนำเข้าและปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้า

  

 

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมลงนามความร่วมมือการจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก เพื่อรับมือกับมาตรการการกีดกันทางการค้า ผ่านมาตรการ CBAM สามารถวิจัยและบริหารต้นทุนในกระบวนการผลิต เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำอุตสาหกรรมเข้าสู่ Green Steel เน้นในเรื่องของ ความยั่งยืน (Sustainability) พลังงานสะอาด และ มาตราการรักษ์โลก อันเป็นมาตราการสำคัญของ CBAM

สถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมเหล็กถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งในภาคการส่งออกและการผลิต เหล็กถือได้ว่าเป็นหนึ่งในการส่งออกที่ทำเงินได้จำนวนมหาศาลของประเทศ โดยในปีที่ผ่านมาไทยพึ่งพาการส่งออกถึง 60% ของ GDP นับเป็นการส่งออกเหล็กไปสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) แล้วกว่า 2,500 ล้านบาท หรือนับเป็น 4.3% ของยอดการผลิตจากมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยผู้ประกอบการจะต้องหาแนวทางเพื่อปรับรูปแบบการผลิต เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและสอดคล้องกับมาตรการดังกล่าว

ฐานวัฎจักรชีวิต เหล็กไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ในการลงนามครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินวัฏจักรชีวิต หรือ Life Cycle Assessment (LCA) ของกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมเหล็ก โดยประเมินจากข้อมูลบัญชีรายการสิ่งแวดล้อม หรือ Life Cycle Inventory (LCI) เก็บข้อมูลจริงจากโรงงาน (Field Collection) และใช้แบบจำลองในการศึกษาจากข้อมูลที่เก็บได้ในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก เพื่อเป็นตัวแทนของข้อมูลภาคการผลิตในอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศเล็กร้อนเย็นอย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ ทีมวิจัยและบริษัทที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 7 โรงงาน ประกอบด้วยเหล็กแผ่น 4 โรงงาน ท่อเหล็ก 1 โรงงาน ลวดเหล็ก 1 โรงงานและเหล็กรูปพรรณ 1 โรงงาน ซึ่งจะร่วมกันศึกษารายการสารขาเข้าและสารขาออกของแต่ละกระบวนการผลิต เพื่อวิเคราะห์ส่วนที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาในแต่ละกระบวนการ สร้างโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต ตลอดจนสามารถทราบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการผลิต รวมถึงผลพลอยได้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกระบวนการผลิตในอนาคต

เป็นการปรับปรุงกระบวนการผลิตและการพัฒนา ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608 (Net Zero 2065)

  

 

สถาบัน Climate Change
วางฐานรบ 46 อุตฯ สู้ CBAM

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าแนวโน้มและทิศทางของการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมมีการแข่งขันที่สูงมาก ส.อ.ท. ต้องการยกระดับอุตสาหกรรมไทย โดยวางนโยบาย ONE FTI จากอุตสาหกรรมดั้งเดิม (First Industries) ที่ประกอบด้วย 46 กลุ่มอุตสาหกรรมและ 11 คลัสเตอร์ ครอบคลุม 76 จังหวัด สู่อุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-Gen Industries) ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย ส.อ.ท. มีการจัดตั้งสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Institte: CCI) เพื่อให้องค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ เกี่ยวกับ Carbon Footprint of Product (CFP) และ Carbon Footprint for Organization (CFO) นำเสนอความเห็นต่อภาครัฐเพื่อให้ประเทศไทยเตรียมความพร้อมต่อมาตรการสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศ เช่น CBAM มีการจัดทำ FTiX แพลดฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต

ฉลากสีเขียว รับเมกะเทรนด์สิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ส.อ.ท. ยังเห็นว่า “หากกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีการศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต และการพัฒนาต่อยอดเพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนา Green Products และฉลากสิ่งแวดล้อมต่อไป"

ถือเป็นการรับกับเมกะเทรนด์โลก ที่มุ่งเน้นด้านการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานสะอาด อุตสาหกรรมเหล็กจึงมุ่งมั่นพัฒนาให้การผลิตเหล็กมีคุณภาพที่ดี มีราคาเหมาะสม รวมถึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน

 

 

 

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. กล่าวว่า ภาพรวมของการ พัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก และสถานการณ์ของการแข่งขันทางธุรกิจในอุตสาหกรรมเหล็กตามที่ทุกท่านทราบหรือรับรู้จากข่าวสารต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการผลิตที่มุ่งสู่ Green Steel และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทางกลุ่มเหล็กได้ตระหนักในความสำคัญและมุ่งมั่นในการส่งเสริม สนับสนุนสมาชิกของกลุ่มเหล็กในการเตรียมความพร้อมขององค์กรและกระบวนการผลิตเหล็ก เพื่อรองรับการุ่งสู่ Green and Circular Economy

ดังนั้นจึงต้องเริ่มต้นจากการศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์เหล็ก โดยโครงการฯ ได้รับความสนใจจากสมาชิกของกลุ่มฯ เป็นอย่างมาก

“การจัดทำฐานข้อมูลของอุตสาหกรรมเหล็ก จะช่วยให้มีการรวบรวมข้อมูลเฉพาะขั้นตอนการผลิต ณ โรงงาน (Gate to Gate) และ การประเมินผลกระทบตลอดวัฏจักรของผลิตภัณฑ์ (Cradle to Gate) ที่เป็นตัวแทนของข้อมูลภาคการผลิตเหล็กของไทย มีเป้าหมายการจัดทำฐานข้อมูลของผู้ประกอบการทุกกลุ่มฐานข้อมูล“

ทั้งนี้ ยังมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุด รวมทั้งมีการนำพลังงานทางเลือกเข้ามาใช้ อาทิ พลังงานไบโอ การปลูกหญ้าเนเปียร์และสาหร่ายสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงศึกษาร่วมกับประเทศที่มีความรู้ในเรื่องของพลังงานไฮโดรเจนเพื่อนำมาใช้ในอนาคต ขึ้นอยู่กับต้นทุนและความเหมาะสมของเทคโนโลยี

 

 

 

วิจัย Green Steel
วางเส้นทางอนาคตเหล็กไทยยั่งยืน

รศ.ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กล่าวว่า เอ็มเทค มีพันธกิจในการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้สำหรับการประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ชุมชน และสังคม เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ การดำเนินงานในการจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมรองรับมาตรการ CBAM ภายใต้ความร่วมมือนี้ จะสะท้อนให้เห็นถึงการตื่นตัวต่อมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

“ ทางสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงได้สำรวจวิเคราะห์ข้อมูล สร้างโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อันนำไปสู่แนวทางในการปรับปรุงการผลิตที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น"

นอกเหนือจากการแข่งขันด้านธุรกิจแล้ว ส.อ.ท, สวทช. และ เอ็มเทค มองว่า การแข่งขันด้านการลดคาร์บอนไดออกไซด์เป็นอีกการแข่งขันหนึ่งที่จำเป็นต้องให้ความสนใจ และต้องให้ความสำคัญกับแนวทางที่จะพัฒนาไปสู่การสร้างเหล็กสีเขียว หรือ Green Steel ทั้งในแง่ของนวัตกรรมและการวิจัย เพื่อให้เป็นผู้นำในภูมิภาครวมถึงแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมเหล็กได้ ไม่ใช่เพียงแต่ตอบรับกับมาตรการ CBAM แต่ยังหมายถึงการพัฒนากระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กและเป็นประโยชน์ต่อการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศชาติอีกด้วย.