แกะรอย กลยุทธ์ความยั่งยืนสามระดับ 'ไทยเบฟ' ก้าวสู่ผู้นำดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์

by ESGuniverse, 1 มีนาคม 2567

ไทยเบฟ หลอมรวมโมเดลแห่งความยั่งยืน ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม คว้าผู้นำดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม

การดำเนินธุรกิจพร้อมภารกิจลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลกที่ไทยเบฟมุ่งมั่นมาหลายปี และสร้างความสำเร็จ จนผ่านด่านจากการเป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (The Dow Jones Sustainability Indices - DJSI) ซึ่งคว้าคะแนน “สูงสุด” ในหมวดอุตสาหกรรมเครื่องดื่มระดับโลก โดยปี 2566 เรียกว่ายืนหนึ่งตำแหน่งผู้นำ ต่อเนื่อง 6 ปีซ้อน พร้อมวางเป้าหมาย PASSION 2025 พันธกิจสำคัญคือการ “สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต” เพื่อให้ธุรกิจแกร่งคู่ความยั่งยืนของโลก

ต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานความยั่งยืน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ฉายภาพแบบเจาะลึกในเรื่องนี้ว่า ไทยเบฟ จริงจังมากกับ Sustainability เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทยเบฟชัดเจนมาก และการติดทำเนียบ DJSI ติดต่อกัน 6 ปี บริษัทมองเป็นการบ้าน ที่บริษัทต้องนำกลับมา “พัฒนาองค์กร" อย่างต่อเนื่องด้วย ทุกครั้งที่ตอบคำถาม เราจะกลับมาหาจุดอ่อน เพื่อทบทวนและพัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้น

การขยันทำการบ้าน ทบทวนและพัฒนาเพิ่มขึ้นทำให้ ไทยเบฟ ตกผลึกค้นพบกลยุทธ์ 3 ระดับจากการสรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน (Enabling Sustainable Growth-ESG) 3 ด้าน คือ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล พร้อมขยายความร่วมมือกับพันธมิตรสร้างแพลตฟอร์มสาธารณะ มุ่งสร้างธุรกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับความยั่งยืน ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า

 

ระดับที่ 1 เติบโตจากภายในองค์กร

ไทยเบฟ เริ่มที่ภายในองค์กรต้องดีก่อน ทำเป็นตัวอย่างก่อน ด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าลดการใช้น้ำต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ 5% ภายในปี 2025 (พ.ศ.2568) และการคืนน้ำสู่ธรรมชาติและสังคม (Water Replenishment) 100 % ภายในปี 2024 (พ.ศ.2566) โดยปีที่ผ่านมาได้มีการร่วมมือกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) คืนน้ำสู่ธรรมชาติทั้งหมด 5%

นอกจากนี้ยังมีการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ทั้งทางตรงในขอบเขตที่ 1 และทางอ้อมในขอบเขตที่ 2 (Scope 1 และ 2) และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 50% ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) เพื่อรองรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 (พ.ศ. 2693) (Net Zero) โดยตั้งเป้าผ่านเกณฑ์การส่งเสริมให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยอิงกับเป้าหมายบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ Science Based Targets (SBTi) ภายในเดือนกันยายน 2024 (พ.ศ. 2567)

การเพิ่มสัดส่วนวัสดุรีไซเคิล (rPET) ในขวดพลาสติก PET สัดส่วน 30% ภายในปี 2030 และเปิดตัวขวดน้ำใหม่ที่ใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิล (rPET) ในเดือนตุลาคม-ธันวาคม มุ่งพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำได้ แปรสภาพใช้ใหม่ได้ และสามารถย่อยสลายได้ ต่อยอดไปสู่การไม่ฝังกลบ (landfill) ทั้งในส่วนของโรงงานและร้านอาหารในเครือภายในปี 2040 (พ.ศ.2583)

ในส่วนของสังคมและธรรมมาภิบาล ตั้งเป้าหมายเพิ่มระดับความผูกพันของพนักงานให้มากกว่าหรือเท่ากับ 90% ภายในปี 2030 ให้พนักงานมีการทำงานที่ดี สวัสดิการ สภาพแวดล้อมที่ดี มีการจัดทำจรรยาบรรณธุรกิจ (Code of Conduct) กับคู่ค้า เพื่อพัฒนาไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 (Net Zero Emissions) รวมไปถึงเพิ่มสัดส่วนยอดขายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเป็น 80% ภายในปี 2030

 

ระดับที่ 2 ร่วมมือกับพันธมิตร


ไทยเบฟ จับมือพันธมิตรในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วม 8 องค์กรเอกชนก่อตั้งเครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย (Thailand Supply Chain Network หรือ TSCN) ขึ้นในปี 2019 (พ.ศ.2562)ดำเนินโครงการและกิจกรรมเพื่อพัฒนาคู่ค้า เช่น การจัดสัมมนาในหัวข้อด้านการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน และการจัดอบรมการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกให้กับคู่ค้าที่เป็นสมาชิกในขอบเขตที่ 1-2-3 (Scope 1-2-3)

และโครงการ SPACE-F ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร ภายใต้ความร่วมมือของบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเฟ้นหาสตาร์ทอัพของความมั่นคงด้านอาหาร ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ในข้อ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน

 

ระดับที่ 3 เปิดแพลตฟอร์มสาธารณะ


บริษัท ไทยเบฟเวอเรจรีไซเคิล จำกัด (Thai Beverage Recycle หรือ TBR) ร่วมมือกับเทศบาลท้องถิ่นและพันธมิตร ริเร่ม “โครงการ สมุยโมเดล” ในปี 2019 โดยร่วมมือกับเทศบาลนครเกาะสมุยและร้านค้าของเก่าในการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วหลังการบริโภค มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้คู่ค้าและประชาชนมีส่วนร่วมในการลดปัญหาขยะบนเกาะ โดยใช้รถขนส่งเที่ยวกลับ (Backhaul Logistics) จากการขนส่งผลิตภัณฑ์ไปจำหน่าย ซึ่งมีการดำเนินงานต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน และสามารถเก็บกลับขวดแก้วและเศษแก้วกลับมาได้เทียบเท่าหรือมากกว่าปริมาณผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่จำหน่ายบนเกาะสมุย สร้างรายได้ให้กับผู้ค้าขวดเก่าในท้องถิ่นถึง 10 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ ยังมีการขยายผลโครงการสู่เกาะสีชัง โดยร่วมกับสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และการรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) และเทศบาลท้องถิ่น เริ่มดำเนินการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์จากเกาะสีชังในปี 2023 (พ.ศ. 2566) และยังมีแผนในขยายต่อไปยังเกาะอื่น ๆ ได้แก่ เกาะล้าน และเกาะเสม็ด

อีกหนึ่งโครงการหลัก ได้แก่ “ไทยเบฟ รวมใจต้านภัยหนาว” ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 24 ได้แจกผ้าห่มจำนวน 200,000 ผืนต่อปี ให้แก่ผู้ประสบภัยหนาวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และตอกย้ำความมุ่งมั่นในด้านความยั่งยืน ไทยเบฟได้ใช้ rPET ผลิตผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลกต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 นำขวดพลาสติก PET กลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิล ผลิตเป็นผ้าห่มได้แล้วทั้งสิ้น 30,400,000 ขวด

นอกจากนี้ ปีที่ผ่านมาได้ริเริ่มโครงการ “จากผู้รับ สู่ผู้ให้” เชิญชวนให้ชุมชนที่ได้รับแจกผ้าห่มนำขวดพลาสติก PET มาเพื่อนำไปผลิตผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลก ส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้กับผู้ประสบภัยในปีถัดไป และโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2016

โดยมีเป้าหมายในการสร้างความตระหนักรู้และเปลี่ยนมุมมองของกลุ่มผู้บริโภคที่มีต่อผ้าขาวม้า สร้างแรงบันดาลใจ ส่งเสริมองค์ความรู้และนวัตกรรมในการผลิต ให้แก่ชุมชน ตลอดจนสร้างรายได้ให้ชุมชน ปัจจุบัน มีชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทอมือเข้าร่วมโครงการ 40 ชุมชน จาก 30 จังหวัด มีผู้ได้รับประโยชน์ 1,561 ราย สร้างรายได้รวมกว่า 235 ล้านบาท

โครงการไฮไลท์ของไทยเบฟ คือขับเคลื่อนการจัดงาน Sustainability Expo (SX) โดยใช้โมเดล B2C2B (Business-to-Consumer-to-Business) ยึดผู้บริโภคเป็นแกนกลาง โดยเชื่อมโยงระหว่างองค์กรธุรกิจกับผู้บริโภค และผู้บริโภคจะเชื่อมโยงกลับสู่ภาคธุรกิจ ทั้งธุรกิจรายใหญ่และธุรกิจรายย่อย (SMEs) ด้วยแนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” จากการผสานความร่วมมือของเครือข่ายที่เป็นองค์กรด้านความยั่งยืนจากภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่เข้าร่วมกว่า 246 องค์กร ที่ประสบความสำเร็จและสร้างปรากฎการณ์แห่งการปลุกจิตสำนึกด้าน การพัฒนาที่ยั่งยืน

และมีรายการ Win Win WAR Thailand เป็นรายการที่บ่มเพาะทักษะของผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม (Social Entrepreneurs) โดยใช้กลไกด้านธุรกิจช่วยแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรายการนี้ได้จัดทำอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 มีจำนวนผู้ให้ความสนใจสมัครร่วมรายการกว่า 6,300 ทีม และใน 2 ปีที่ผ่านมา ยังได้ขยายผลไปสู่กลุ่มเยาวชนผ่านรายการ Win Win WAR OTOP Junior โดยเปิดโอกาส ให้นักเรียนอายุ 9-14 ปี พร้อมคุณครูที่ปรึกษา มาร่วมแข่งขันเพื่อเพิ่มทักษะการเป็นเจ้าของธุรกิจ ด้วยแนวคิดที่เอื้อประโยชน์กับสังคมและสิ่งแวดล้อม

“ไทยเบฟได้ดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นใจว่าบริษัทย่อยทุกแห่งในทุกประเทศที่บริษัทฯเข้าไปทำธุรกิจจะมีความเชี่ยวชาญ มีนโยบายที่สอดคล้อง และมีมาตรฐานในการปฏิบัติงานที่เท่าเทียมกันตามหลัก ESG ”