'ก่อสร้าง New Gen' ปรับลุครับเทรนด์ ESG มุ่งสู่ Green Construction

by ThaiQuote, 18 มีนาคม 2567

ส.อ.ท. แนะธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ปรับตัวครั้งใหญ่ ให้ทันต่อยุคสมัย หันมาใส่ใจความยั่งยืน หนุนเป็น Green Construction รับเทรนด์รักษ์โลกในแบบ ESG

ปัจจุบันเทรนด์รักษ์โลกมาแรง การก่อสร้างอาคารสมัยใหม่ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Construction จะกลายเป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจกระแสหลักของไทยในอนาคตอันใกล้ ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากแนวโน้มการดำเนินธุรกิจและการลงทุนของโลก ที่มุ่งให้ความสำคัญกับความยั่งยืนหรือหลัก ESG ทั้งการดูแลสิ่งแวดล้อม การรับผิดชอบต่อสังคม และการบริหารงานที่ยึดหลักธรรมาภิบาล ควบคู่ไปกับการแสวงหาผลกำไรของธุรกิจ

แต่อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง หนึ่งในเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ที่มีการเติบโตตามทิศทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ แต่สวนทางกับกระแสรักษ์โลก เพราะทุกการเติบโตย่อมนำมาซึ่งการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลืองมากมาย เช่น ซีเมนต์ เหล็ก และอลูมิเนียม อีกทั้งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากเศษวัสดุก่อสร้างซึ่งหลงเหลือจากการก่อสร้าง หรือการรื้อถอนอาคารต่าง ๆ ที่เร่งปรับตัวการแก้ไข ซึ่งต้องอาศัยพลังความคิด ความร่วมมือจากหลายภาคส่วนช่วยกัน


สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จึงจัดเวทีช่วยหาทางออกเรื่องนี้


นายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท เวที “Green Construction toward ESG Achievement” แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างไทย ตลอดห่วงอุปทาน (Supply chain) ด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมุ่งเน้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี นวัตกรรมและแนวโน้มอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม ในยุคที่อะไรๆ ก็ต้องรักษ์โลก เทรนด์โลกเปลี่ยนไป ผู้บริโภคหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น กระแสรักษ์โลกมาแรง ธุรกิจก็ต้องปรับตาม เพื่อเกิดความยั่งยืน

Green Construction อนาคตกระแสหลักรักษ์โลก

ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างไทย กำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค ซึ่งผู้ประกอบการฯ ต้องเผชิญกับความท้าทายในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และต้องปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการเกิดของเสียจากกระบวนการผลิต Green Construction จึงเป๋นคำตอบที่จะกลายเป็นแม่พิมพ์ใหม่ในการดำเนินธุรกิจ ที่จะเป็นกระแสหลักในอนาคต ที่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลอย่างยั่งยืนต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

จับตาทิศทางอนาคต-สิ่งแวดล้อม-ความยั่งยืนใกล้ชิด

ด้าน นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เพื่อให้ภาครัฐและภาคเอกชนตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างที่มีความเกี่ยวเนื่องกับผู้ประกอบการในหลายธุรกิจ ทุกคนจำเป็นที่จะต้องติดตามทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด รวมถึงความท้าทายของอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะความท้าทายที่มาจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนที่เป็นแรงกดดันต่อการดำเนินธุรกิจ

ปรับตัวรู้เท่าทัน ตามกรอบ ESG

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อแรงกดดันจากการดำเนินธุรกิจในระดับโลก ที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะการนำกรอบ ESG มาเป็นตัวชี้วัดสำคัญขององค์กร ในการแสดงถึงการประกอบกิจการที่ไม่ได้มุ่งแสวงหากำไรแต่เพียงอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญต่อการใส่ใจสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาลควบคู่ไปด้วย

“หากไม่มีการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจมากขึ้นเช่นกัน อาทิ เสียโอกาสในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่แบรนด์สินค้า ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ๆ สูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน จากการเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ อาทิ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM)” นายอภิชิต กล่าว

คาดสิ้นปีนี้ขยายตัว 2% จากโครงการต่อเนื่องจากอดีต

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมก่อสร้างในปี 2567 ส.อ.ท.คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มขยายตัวประมาณร้อยละ 2 ต่อปี มูลค่าประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท โดยเป็นการขยายตัวจากการก่อสร้างของภาครัฐร้อยละ 2 ต่อปี มูลค่าประมาณ 810,000 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างที่เป็นโครงการต่อเนื่องจากอดีต เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟฟ้า โครงการมอเตอร์เวย์ และการก่อสร้างในภาคเอกชนมูลค่าประมาณ 598,000 บาท ขยายตัวร้อยละ 3 ต่อปี

โดยเป็นโครงการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน พื้นที่ค้าปลีก โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการปรับปรุง ซ่อมแซม โรงแรมให้สอดคล้องกับการขยายตัวในภาคการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่อนคลายลงแล้ว ปัจจัยข้างต้นเหล่านี้จึงส่งผลโดยตรงต่อแนวโน้มความต้องการใช้วัสดุก่อสร้าง ซึ่งคาดการณ์ว่าปี 2567-2568 ความต้องการจะเติบโตขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 3.5 – 4 ต่อปี

หนุนเปลี่ยนผ่านสู่ Next – Gen Industries ตามวิถี ESG

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้นโยบาย ONE FTI สนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง ด้วยการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิต 13 กลุ่ม อาทิ แก้วและกระจก แกรนิตและหินอ่อน เคมี เซรามิก เทคโนโลยีชีวภาพ ปูนซีเมนต์ พลาสติก ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น โรงเลื่อยและโรงอบไม้ เหล็ก หลังคาและอุปกรณ์ และอลูมิเนียม เป็นต้น

รวมทั้งยังมีสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 5 ภูมิภาค ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิม หรือ First Industries ให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ Next – Gen Industries ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และพร้อมรับมือต่อความท้าทายทุกรูปแบบอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นการบูรณาการร่วมกันอย่างครอบคลุมและรอบด้านทั้งในเชิงอุตสาหกรรมและในเชิงพื้นที่