ส่องแบรนด์ข้ามชาติ ผลิตขยะพลาสติก ติด Top 5 โลก ปี 2023

by ESGuniverse, 21 มีนาคม 2567

Break Free From Plastics เผย 5 อันดับขยะพลาสติกโลก “โคคา-โคลา” ขึ้นแท่นอันดับ 1 ขยะแบรนด์ข้ามชาติ

 

ยุคที่ความสะดวกสบายที่ทุกอย่างหาได้ผ่านมือถือ มีบริการเดลิเวอรี่ นำส่งถึงที่ฉับไวทันใจ ทำให้ยอดขยะพลาสติกพุ่งขึ้นหลายเท่าตัว แบรนด์ไหนขายดี นั่นหมายถึงการผลิตพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งย่อมเพิ่มตามยอดขาย จนกลายเป็นแชมป์ผลิตขยะโดยปริยาย

 

เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนทั่วโลก 6 ทวีป ในนาม Break Free From Plastics (BFFP) เผยผลสำรวจล่าสุดปี 2023 (พ.ศ.2566) มีการตรวจสอบแบรนด์ 250 ครั้ง โดยอาสาสมัคร 8,804 คน ใน 41 ประเทศ ร่วมกันรวบรวมและตรวจสอบขยะพลาสติกจำนวน 537,719 ชิ้นทั่วโลก รวม 6,858 แบรนด์จากบริษัทแม่ 3,810 แห่ง โดยจากการเก็บข้อมูลพบว่า ขยะจาก 3 แบรนด์ข้ามชาติที่พบมากที่สุด ได้แก่ โคคา-โคล่า เนสท์เล่ และยูนิลีเวอร์

 

 

 

จากภาพ สถิติที่เห็นพูดถึงผู้ผลิตพลาสติกจำนวนมากระดับโลกประจำปี 2566 ได้แก่ บริษัท Coca-Cola, Nestlé, Unilever, PepsiCo, Mondelēz International, Mars, Inc., Procter & Gamble, Danone, Altria และ British American Tobacco จึงถูกจัดเป็น "ผู้ก่อมลพิษจากพลาสติกอันดับสูงสุดของโลก"

เนื่องจากเป็นบริษัทแม่ที่มีส่วนร่วมในการสร้างมลพิษจากพลาสติก ในประเทศที่มีปัญหาขยะพลาสติกมากที่สุด ตามข้อมูลการตรวจสอบแบรนด์ที่ได้ทำการประเมินแล้ว

บริษัท Coca-Cola ยังคงรักษาตำแหน่งผู้ก่อมลพิษอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 6 โดยสร้างสถิติใหม่ด้วยจำนวนขยะพลาสติกทั้งหมด 33,820 ชิ้น ซึ่งสูงที่สุดของบริษัทนับตั้งแต่เริ่มโครงการ

จากสถิติที่ออกมาในปี 2023 ทำให้เกิดการดำเนินคดีทางกฎหมายเพื่อให้บริษัทใหญ่ๆ ช่วยรับผิดชอบต่อผลกระทบของพลาสติกปล่อยมลพิษ กับแบรนด์ Danone, Coca-Cola, และ Nestlé ในยุโรป ซึ่งผลการตรวจสอบแบรนด์ครั้งนี้ กลายเป็นหลักฐานสำคัญสำหรับคดีนี้ ที่จะช่วยเน้นให้เข้าใจถึงความสำคัญของการตรวจสอบแบรนด์เหล่านี้ ในการสร้างความตระหนักและการต่อสู้ให้บริษัทร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาของมลพิษจากพลาสติกที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม

ข้อมูลการตรวจสอบแบรนด์ที่ถูกต้องและเชื่อถือได้จะเสริมให้คดีมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นในศาลและมีโอกาสชนะคดีมากขึ้น

PepsiCo หลุดโผแชมป์ แม้ขยะมากกว่า Coca-Cola

เป็นครั้งแรกที่ขยะพลาสติกแบรนด์ PepsiCo ที่มีจำนวนมากกว่าของบริษัท Coca-Cola แต่ถูกจัดลำดับไว้ต่ำกว่า เหตุจากวิธีการที่ใช้พิจารณานั้น เน้นการนับจำนวนประเทศที่พบ ไม่เน้นการนับชิ้นขยะ

โดยดูว่าแบรนด์หนึ่งๆ ตรวจพบได้ในกี่ประเทศ และจากข้อมูลระบุว่า PepsiCo พบขยะใน 30 ประเทศ ในขณะที่ Coca-Cola พบขยะใน 40 ประเทศ จึงทำให้ PepsiCo ไม่ได้ติดอันดับผู้ก่อมลพิษอันดับต้นๆ ในปีนี้ เนื่องจากมีจำนวนประเทศที่พบขยะน้อยกว่า

การพิจารณาตามจำนวนประเทศที่พบขยะเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการวิเคราะห์ผลกระทบของพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อมในแต่ละพื้นที่และการกำหนดความรับผิดชอบของบริษัทในการจัดการขยะให้เหมาะสมกับภูมิภาคนั้นๆ ด้วย

ข้อเรียกร้องให้ทุกบริษัทดำเนินการ

1 เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการใช้พลาสติกและสารเคมีในบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูลนี้ควรเน้นที่ประเภทของพลาสติกที่ใช้และปริมาณที่ใช้ในตลาดต่าง ๆ รวมถึงสารเคมีที่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ด้วย

2 การยุติการสนับสนุนวิธีแก้ปัญหาที่ผิดพลาด เช่น การเผาพลาสติกและการรีไซเคิลสารเคมี เนื่องจากเข้าใจว่าวิธีการเหล่านี้มีผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพคน ควรให้การสนับสนุน ส่งเสริมการใช้วิธีที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาอย่างรอบคอบ

3 ออกแบบโมเดลธุรกิจใหม่ ไม่ใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทุกประเภท เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและมีความเอื้อต่อสิ่งแวดล้อม การใช้วัสดุใหม่ในการผลิต เช่น พลาสติกชีวภาพหรือพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้เป็นทางเลือกที่ดีเพื่อลดการใช้พลาสติกที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

4 การลงทุนในระบบการจัดส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าจะช่วยสร้างภาพลักษณ์บวกให้กับธุรกิจ โดยสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับลูกค้าและพันธมิตรธุรกิจต่างๆ นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงในการต่อสู้กับกฎหมายและประเด็นทางสิ่งแวดล้อมในอนาคต ด้วยการรับประกันความยุติธรรมและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรม ให้เตรียมพร้อมมากยิ่งขึ้นได้ด้วย


จากข้อมูลทั้งหมด หากคิดอย่างเป็นกลางกับทุกฝ่าย ปัญหาขยะพลาสพลาสติกใช่ว่ามาจากการผลิตอย่างเดียว แต่ต้นเหตุของขยะเกลื่อนเมือง จากพฤติกรรมผู้บริโภค ก็มีส่วนไม่แพ้กัน

ความซื้อง่าย ใช้ไว ทิ้งเร็ว ทิ้งไม่แยก ล้วนส่งภาระให้ภาครัฐในการจัดเก็บทำลายขยะ จึงควรมีการรณรงค์เรื่องนี้ แบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง โรงงานผลิต จนถึงปลายทางคือผู้บริโภค ที่ต้องมีสำนึกร่วมกัน ลด ละ เลิก การใช้แล้วทิ้งในครั้งเดียว. โดยหันมาใช้วัสดุทดแทนพลาสติกกันให้มากขึ้น

หากแต่่การลดใช้พลาสติกและการจัดการขยะพลาสติกไม่ใช่เรื่องที่สามารถแก้ไขได้โดยเด็ดขาด เพียงแค่ฝ่ายเดียวเท่านั้น บริษัทผู้ผลิตมีส่วนสำคัญที่ต้องรับผิดชอบ แต่ยังมีภาคส่วนอื่นๆ ทั้ง ผู้บริโภค ภาครัฐ และภาคเอกชน ก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วยเช่นกัน ซึ่งทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อลดปัญหาขยะพลาสติก

ผู้ผลิตมีบทบาทสำคัญในการรับผิดชอบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีการใช้วัสดุที่มีความยั่งยืนและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรม การทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายก็เป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันและอนาคตของโลกได้ด้วยกัน


ที่มา: https://www.breakfreefromplastic.org/2024/02/07/bffp-movement-unveils-2023-global-brand-audit-results/