“อุตตม” ปั้นคลัสเตอร์ ชา-กาแฟ เหนือตอนบนขึ้นชั้นระดับโลก

by ThaiQuote, 30 ตุลาคม 2561

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ระหว่างการเดินทางไปประชุม ครม.สัญจร จ.เชียงราย ซึ่งมีการประชุมหารือกับหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) และการพบปะชาวบ้าน ผู้ประกอบการในพื้นที่ดอยแม่สลอง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

โดยระบุว่า การประชุมหารือกับหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 รวมทั้งการเยี่ยมชม และพบปะชาวสบ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ ครั้งนี้ เพื่อจัดทำงบประมาณตามยุทธศาสตร์หลักเป็นรายกลุ่มจังหวัด เพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน SME ผ่านการตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ระดับจังหวัด (มินิ ไอทีซี) การดึงบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) มาช่วยเรื่องระบบโลจิสติกส์ เพื่อสนับสนุนการจัดส่งให้ได้คุณภาพ

รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการวิจัย เพื่อผลักดันสินค้าผ่านนวัตกรรมยุคใหม่ ขณะที่ด้านเงินทุน กระทรวงอุตสาหกรรมมีกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ หรือกองทุนคนตัวเล็ก สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 ของเอสเอ็มอีแบงก์ กองทุนของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อสลายแท่งการช่วยเหลือให้บูรณาการร่วมกัน

ทั้งนี้ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 มีศักยภาพในด้านการเกษตรและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตร โดยปัจจุบันมีการแปรรูปพืช ผัก ผลไม้ และสินค้าเกษตรขั้นต้นที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ วัตถุดิบสำคัญในพื้นที่ ได้แก่ ข้าว ชา กาแฟ และสมุนไพร จึงควรมีการพัฒนานวัตกรรมการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไปสู่ผลิตภัณฑ์เกษตรอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงทำรายได้ให้เกษตรกร

สำหรับการพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูปในเบื้องต้นนั้น ควรจะต้องมีการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ของแต่ละผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น กลุ่มคลัสเตอร์ชา สมุนไพร และกลุ่มกาแฟ ซึ่งสามารถที่จะประสานร่วมกับกับพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะยกระดับให้เป็นเมืองแห่งกาแฟ

ขณะที่ข้อมูลปัจจุบัน พบว่าในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 2 มีพื้นการเพาะปลูกชากว่า 50,000 ไร่ มีผลผลิตชาอยู่ที่ 48,000 ตันต่อปี จากปริมาณผลผลิตชาทั้งประเทศ อยู่ที่ 120,000 ตันต่อปี (อันดับ 3 ของอาเซียน) และมีพื้นที่เพาะปลูกกาแฟประมาณ 45,000 ไร่ สร้างผลผลิต 5,500 ตันต่อปี จากปริมาณการผลิตกาแฟปีละ 60,000 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกาแฟพันธุ์อาราบิกา (อันดับ 11 ของโลก)

“การรวมกลุ่มคลัสเตอร์ของเกษตรกรและผู้ประกอบการจะช่วยในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับผลิตภัณฑ์ พบว่าแต่ละพื้นที่มีจุดเด่นในสินค้าของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น ใบชา ของดอยแม่สลอง ซึ่งมีการผลิตและจัดจำหน่ายในราคาถึง กก.ละ 30,000 บาท หรือการสร้างกาแฟอาราบิกาของภาคเหนือให้เป็นจุดเด่นสำหรับนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติ ซึ่งมองว่าสามารถทำได้หากร่วมกันคิดร่วมกันทำ ค้นหาจุดเด่น สิ่งเหล่านี้เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและคนในชุมชน เข้มแข็งตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก” ดร.อุตมม กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการประชุมดังกล่าวได้มีการเสนอขอรับงบประมาณเพื่อส่งเสริมและพัฒนาในกลุ่มคลัสเตอร์ต่างๆ อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เสนอของบประมาณ 750 ล้านบาท กลุ่มสิ่งทอ 26 ล้านบาท กลุ่มการวิจัยและพัฒนาไผ่ 40 ล้านบาท กลุ่มสมุนไพร 50 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“อุตตม” นำทีม จัด SMEs สัญจร เมืองชล เชื่อม EEC- ศก.ฐานราก

อุตตมชี้ อีสานล่างเปี่ยมศักยภาพด้านเศรษฐกิจ