ปราชญ์จัดการน้ำแห่งตำบลดงขี้เล็ก ส่งเสริมสร้างแหล่งกักเก็บน้ำใต้ดิน ลดปัญหา หลาก ท่วม แล้ง อย่างยั่งยืน

by วันทนา อรรถสถาวร , 7 มกราคม 2566

มูลนิธิสัมมาชีพได้มีโครงการหนึ่งที่สำคัญและเป็นการยกย่องให้เกียรติกับผู้นำชุมชนในท้องถิ่นที่สั่งสมความรู้ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาชุมชนหรือสร้างสรรค์ชุมชนให้เข้มแข็ง โดยการยกย่องให้เป็น “ปราชญ์สัมมาชีพ”

 

 

โดยเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมามีปราชญ์สัมมาชีพที่ได้รับการยกย่องทั้งหมด 5 ท่าน หนึ่งในนั้นคือ คุณบรรจง พรมวิเศษ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี

 

บรรจง พรมวิเศษ

บรรจง พรมวิเศษ

 

คุณบรรจงมีพื้นเพมาจากเกษตรกร ครอบครัวเป็นชาวนาที่เป็นครอบครัวใหญ่ มีพี่น้องร่วมกัน 7 คน คุณบรรจงเป็นพี่คนโตไม่ได้รับการศึกษาสูง จึงหันมายึดอาชีพทำนา เกษตรกรรม เรียนจบประถม 4 แล้วไปจบกศน. แต่ได้รับรางวัลปราชญ์สัมมาชีพด้วยผลงานด้านการจัดการน้ำให้กับตำบลดงขี้เหล็กได้อย่างยั่งยืนและเข้มแข็ง

คุณบรรจงเล่าให้ Thaiquote ฟังว่า “ผมได้รับรางวัลการจัดการน้ำ เพราะอาชีพบ้านเราส่วนใหญ่ทำการเกษตร กลุ่มของเราเป็นกลุ่มบริหารจัดการน้ำชุมชน เนื่องจากพื้นที่ตำบลดงขี้เหล็กเป็นพื้นที่ลาดเอียง เวลาน้ำฝนไหลมาก็จะทั้งท่วมและหลาก เพราะไม่มีพื้นที่จัดเก็บน้ำ ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน” พร้อมกับเล่าต่อไปว่า

 

 

“เราได้มีการเริ่มแก้ไขกันตั้งแต่ปี 2527 ด้วยการปลูกป่าต้นน้ำ ทำการฟื้นฟูป่าอย่างจริงจัง ซึ่งเรื่องนี้ต้องทำต่อเนื่องยาวนานถึงเห็นผล ต้องใช้เวลา และต้องเริ่มต้นจากการสร้างคน ทุกอย่างที่รัฐหรือเอกชนมาสร้างให้ไม่ยั่งยืน เพราะไม่มีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ กว่าจะสร้างตรงนี้ได้ใช้ความพยายามมาก สิ่งเหล่านี้ใช่ว่ามาถึงจะลงไปแก้ไขปัญหาน้ำได้เลย ต้องสร้างคนก่อน นำปัญหาของทุกฝ่ายมาตั้ง มาร่วมกันคิดร่วมกันคุย ต้องใช้ความพยายามหลายอย่าง ต้องใช้เทคนิค กุศโลบายมากพอสมควร กว่าจะเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ขาดความรู้ คนในบ้านเราส่วนใหญ่ที่จนเพราะจนความรู้ นอกจากนี้หลายอย่างก็เกี่ยวข้องกับการเมืองด้วย เพราะการเมืองมักจะมาให้ความหวังว่าจะสร้างอย่างนั้น อยางนี้ให้ แล้วไม่ได้ ส่งผลกระทบมาอย่างยาวนานจนถึงทุกวันนี้”

ก่อนหน้าที่คุณบรรจงจะลงมาจัดการแก้ไขปัญหานั้น พื้นที่ของชุมชนในตำบลดงขี้เหล็กมีทั้งปัญหาท่วม หลาก แล้ง มีอยู่ช่วงหนึ่งชาวบ้านจากเดิมทำนาหันมาทำไผ่ตรงหวานกัน ก็ต้องมีการรดน้ำ จนเกิดปัญหาวิกฤตน้ำในหมู่บ้าน เกิดความขัดแย้ง แย่งชิงน้ำกัน แกนนำโดยคุณบรรจงจึงนำปัญหามาคุยกัน แล้วเริ่มต้นการแก้ไขปัญหาด้วยการฟื้นป่า ฟื้นฟูแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นการดำเนินการทั้งตำบล ไม่ใช่ทำที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น

 

 

“สิ่งแรกที่เริ่มดำเนินการก่อนเลยคือการให้ความรู้ โดยตัวเราต้องออกไปแสวงหาความรู้ก่อน ทั้งจากสถาบันการศึกษา องค์กรหรือหน่วยงานที่จัดความรู้เหล่านี้ ไปดูมาก็นำมาประยุกต์ใช้ในชุมชนของเรา” คุณบรรจงกล่าว

คุณบรรจงบอกว่าตนเองเป็นคนโชคดีที่อยู่บ้าน ทำให้รู้เรื่องราวภายในหมู่บ้าน ตำบลนี้ดี เพราะไม่ได้ไปไหน พอไปแสวงหาความรู้มา หากเกิดการตัดขัดก็มีเครือข่ายเข้ามาช่วยเหลือได้

กระบวนการแก้ไขปัญหาของตำบลดงขี้เหล็ก เริ่มต้นจากหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาชุมชนคือการจัดการชุดข้อมูลของหมู่บ้าน ที่ตำบลดงขี้เหล็กนี้ ทุกหมู่บ้านจะมีชุดปัญหาแล้วแนวทางการแก้ไขของแต่ละปัญหาในทุกหมู่บ้าน ซึ่งเวลาเก็บข้อมูลจะเก็บทุกมิติ ตั้งแต่ปัญหาน้ำ หนี้สิน สุขภาพ แต่เวลานำมาใช้จะใช้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำเป็นหลัก

 

 

พอได้ชุดข้อมูลมาแล้วก็ทำเครื่องมือทำมือขึ้นมาแก้ไขปัญหา ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะไม่เหมือนกัน ตั้งแต่เรื่องถนน เรื่องการจัดการน้ำ การทำเกษตร วางผังหมู่บ้านของตนเองขึ้นมา แล้วมานำเสนอกัน นำผังหมู่บ้านมาเล่าเรื่องราว แล้วมีคนจับประเด็น แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหา จนทุกวันนี้เรามีการจัดประชุมกันเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง มีการประชุมกัน 14 หมู่บ้านเป็นประจำทุกเดือน โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกำนันผู้ใหญ่บ้าน ในระยะหลัง อบต.ก็มีส่วนเข้ามาช่วยเหลือชุมชนผ่านกระบวนการตรงนี้ได้อย่างมาก แนวทางการแก้ปัญหาต้องใช้เวลากว่า 3 ปีศึกษา กลั่นกรองจนตกผลึกเป็นแบบแผนออกมา ไม่ใช่รูปแบบที่บางหน่วยงานทำกันทุกวันนี้ใช้เวลาไม่นาน ไม่กี่ชั่วโมงแล้วทำกันออกมา ในที่สุดก็อาจก็ให้เกิดความขัดแย้งในชุมชน เพราะขาดการมองในทุกมิติ ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง หารือกันจนตกผลึกแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง

“วิธีการของผมคือการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นแกนหลัก การแก้ไขปัญหาไม่ใช่การมาหว่านความเป็นไปได้ แต่ต้องเริ่มต้นจากการแจกแจงปัญหากันก่อน สร้างความเชื่อมั่นว่าแนวทางในการแก้ไขปัญหาของเรานั้น ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนในชุมชนได้จริง” คุณบรรจงกล่าว

 

 

ปราชญ์แห่งการจัดการน้ำ

คุณบรรจงเล่าวว่า หลังจากที่เราให้ทุกหมู่บ้านไปจัดกลั่นกรองปัญหาของแต่ละหมู่บ้านออกมาแล้ว ก็ให้จัดทำแผน โดยทำผังที่ตั้งของแหล่งน้ำในชุมชนว่าเหมาะที่จะกระจายไว้จุดไหนของหมู่บ้านแล้วได้ประโยชน์กันทั่ว แล้วนำผังแต่ละหมู่บ้านมาประกอบกันเป็นตำบล โดยมามองว่าปัญหาของ 14 หมู่บ้านมารวมกันแล้วปัญหาอันดับหนึ่งคืออะไร มีการวิเคราะห์สังเคราะห์กันเสร็จ ปัญหาที่ตรงกันของทั้ง 14 หมู่บ้านคือเรื่องน้ำ ก็นำเรื่องน้ำมาเป็นอันดับ 1 ปัญหาที่ 2 คือเรื่องหนี้สิน ปัญหาที่ 3 คือเรื่องอาชีพ ก็นำมาจัดเรียงกัน จนได้เป็นร้อยปัญหา แล้วนำแต่ละอันดับมาจัดโครงการ แผนงานกัน แล้วนำมาวิเคราะห์ว่าสิ่งไหนที่ชาวบ้านทำเองได้ ส่วนไหนที่ทำเองไม่ได้ต้องของความช่วยเหลือจากภายนอก ก็เสนอของบ อบต.หรือหน่วยงานที่ใหญ่กว่า

จุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ คือไปปรึกษาผู้รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เขาไม่ได้ให้คำตอบมา แต่ให้คำถามมามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเมื่อฝนตกแล้วมีภาชนะในการกักเก็บน้ำหรือเปล่า ทำให้การไปพบครั้งนั้นผิดหวังเป็นอย่างมาก จึงกลับมาปรึกษากันเอง 3 คนก่อนว่าเราควรทำอย่างไรดี เพราะการทำบ่อไม่ใช่คำตอบของชุมชน เพราะก่อนหน้านี้เคยทำแล้วมันก็แล้ง ดังนั้นจึงคิดที่จะทำบ่อไว้ในบ้านเพื่อการกักเก็บน้ำของแต่ละบ้านไว้ใช้ตลอดทั้งปี ดูแลจัดการด้วยตัวของเราเอง

แต่การทำบ่อต้องอาศัยแรงงานของคนในหมู่บ้านร่วมใจกัน ในระยะแรกเรา 3 คนเริ่มต้นก่อน ขุดบ่อแล้วปีแรกยังกักเก็บน้ำไม่ได้มาก เพราะที่เราเป็นที่สูง พอปีที่ 2, 3 เริ่มเห็นผล จึงถามต่อไปว่าใครต้องการมาร่วมโครงการให้มาลงชื่อ มาคุยเรื่องระเบียบ กติกา มีการตั้งกองทุนกันขึ้นมา โดยมีทุนเริ่มต้นที่ 200,000 บาท และมีการแจ้งกันไปว่านี่เป็นเงินของพวกเราที่จัดตั้งเป็นกองทุน ต้องช่วยกันดูแล เวลาไปขุดบ่อของแต่ละบ้านก็นำแรงงานไป ให้เวลากี่วันในการขุด

 

 

คุณบรรจงอธิบายว่า ความแตกต่างของเรากับราชการคือเราไม่มีการกำหนดว่าต้องขุดกี่คิว ซึ่งที่ผ่านมาประสบความล้มเหลวเพราะสาเหตุนั้น แต่ของเราคือขุดจนกว่าจะกักเก็บน้ำได้จริง เพราะแต่ละพื้นที่มีปัญหาที่แตกต่างกัน จนทุกวันนี้เรามีน้ำที่อุดมสมบูรณ์ เสร็จจากการขุดบ่อ เราก็มีการฟื้นฟูคลองใน 14 หมู่บ้านของเรา ฟื้นแก้มลิง ป่าที่เคยโล้น เราก็ฟื้นขึ้นมา เพราะช่วยในการชะลอน้ำ กักเก็บน้ำตามธรรมชาติ มีการส่งน้ำขึ้นไปเลี้ยงป่า ทำให้ป่าเราเป็นป่าเปียก ช่วยลดปัญหาไฟป่า เราใช้คนเป็นรั้ว พัฒนาความตระหนักรู้ในเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านของเราให้ช่วยกันดูแลชุมชน ดูแลป่า จนปัจจุบันตำบลเรามีบ่อใต้ดินเพื่อกักเก็บน้ำกว่า 2,000 บ่อ ทุกวันนี้ไม่มีใครใช้น้ำในคลอง ต่างก็ใช้น้ำที่เป็นบ่อใต้ดิน ถ้าน้ำขาดก็มีระบบลำเลียงเข้าไปเติม การสูบน้ำก็ใช้ระบบโซลาร์เซลล์เข้าไปช่วย เรามีแหล่งน้ำสะสมไว้สำหรับการแก้น้ำแล้ง เรามีนโยบายการแก้ไขน้ำท่วม โดยกันผันน้ำเข้าสู่บ่อขุดของเราเพื่อการพักน้ำ ไม่ปล่อยให้น้ำไหลทิ้งเหมือนเมื่อก่อน และยังเป็นการช่วยพื้นที่ราบลุ่ม ไม่ต้องน้ำท่วมได้อีกด้วย ตอนนี้เรามีคณะกรรมการจัดการบริหารน้ำทุกหมู่บ้าน จัดวางโครงสร้างให้เป็นระเบียบ มีกติกา เพื่อให้ทางอบต.ให้การรับรองเป็นหน่วยงานการจัดการน้ำชุมชน

เมื่อได้น้ำที่อุดมสมบูรณ์แล้ว ทางชุมชนก็หันมาแก้ไขอาชีพ การปลูกไผ่ตรง เป็นพืชเชิงเดี่ยว เมื่อปี 2540 ตายเกลี้ยง ทำให้เศรษฐกิจของเรายิ่งแย่ลงไปอีก จึงได้มีการพัฒนาปลูกไม้ดอกไม้ประดับขายจนถึงทุกวันนี้

 

 

จัดตั้งกองทุนกู้ยืม สร้างอาชีพ ปลดหนี้ชาวบ้าน

ทางชุมชนได้มีจัดตั้งกองทุนเพื่อการออมทรัพย์ มีเป้าหมายชัดเจนเพื่อเป็นแหล่งทุนในตำบลของเรา เป็นแหล่งออมเงินใกล้บ้าน ช่วยในการส่งเสริมอาชีพ และช่วยแก้หนี้นอกระบบ ในตอนเริ่มต้นมีแค่ 48 คน เงินครั้งแรก 1,150 บาท พอทำเสร็จแล้วชาวบ้านเห็นว่าสามารถกู้ยืมได้ จนทุกวันนี้มีวงเงินกว่า 600 ล้านบาท โดยมีหน่วยงานราชการมาวางระบบไว้เป็นหลักยึดให้ชาวบ้านได้รับความเชื่อมั่น

“คนเราที่จนเพราะ จนความรู้ ขาดการวางแผนชีวิตครอบครัว จึงได้จัดทำกลุ่มขึ้น เมื่อมีกลุ่มก็มีระเบียบให้ดำเนินตามระเบียบ ที่มีเงินออมมากขนาดนี้คือมีน้ำแล้ว มีอาชีพ มีรายได้ ในกรณีของป่า เมื่อเรามีการส่งเสริมอาชีพด้านล่างก็ไม่มีใครไปเผาป่า ทำลายป่าเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ก็ช่วยกันรักษาป่า เพราะต่างรู้ดีว่าป่าเป็นที่มาของแหล่งน้ำ น้ำเป็นความสำคัญของการดำรงชีวิต มีน้ำ มีอาชีพ แต่สำหรับคนชายขอบส่วนใหญ่โอกาสในการเข้าถึงแหล่งน้ำมีน้อยมาก ไม่เหมือนกับพื้นที่ภาคกลางที่ระบบชลประทานเข้าถึง เราทำการเกษตรปีละ 1 ครั้ง เสร็จแล้วก็ไม่มีอาชีพเสริมทำ เป็นปัญหาที่เป็นสนิมเกาะกินประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ กว่าที่จะมาถึงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลา ใช้ความรู้สั่งสม” คุณบรรจง กล่าวในที่สุด.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

“คาร์บอนเครดิต” มาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน
https://www.thaiquote.org/content/249104

ชนบทมีความมั่งคั่ง หากพัฒนาถูกทาง ความยั่งยืนจะคืนมา
https://www.thaiquote.org/content/249035

“คุณเจริญ รุจิราโสภณ” ผู้บุกเบิกธุรกิจด้วยหลักคิด ซื่อสัตย์ ขยัน อดทน นำพา ส.ขอนแก่นขยายกิจการไปทั่วโลก
https://www.thaiquote.org/content/248887