จากลูกละ 30 บ. ดิ่งเหลือ 3 บ. มะพร้าว ไทยตายเพราะใคร ?

by ThaiQuote, 6 ตุลาคม 2561

โดยสัดส่วนการบริโภคในประเทศกับอุตสาหกรรมและการส่งออกเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 : 40 พื้นที่เพาะปลูกสำคัญส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคใต้ โดยจังหวัดที่มีผลผลิต มะพร้าว มากที่สุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี อย่างไรก็ตาม จากกระแสความนิยมในสินค้ามะพร้าวส่งผลให้ความต้องการวัตถุดิบมะพร้าวไปผลิตเพื่อการส่งออกยังคงไม่เพียงพอ ภาครัฐจึงได้อนุญาตให้มีการนำเข้า มะพร้าว จากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมะพร้าวยังถูกจัดอยู่ในหมวดสินค้าควบคุม ยังไม่สามารถนำเข้าได้อย่างเสรี ภาพรวมสถานการณ์มะพร้าวไทย เมื่อ 10 เดือนที่แล้ว ในวันที่ 27 พ.ย. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังแนะนำให้ชาวปัตตานี ปลูกมะพร้าวแทนยางพารา ซึ่งขณะนั้นราคาของ มะพร้าว ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยในเดือน พ.ย. 2560 มีราคาสูงสุดถึง 27-29 บาทต่อลูก แต่วันนี้ มะพร้าวหน้าสวนกลับมีราคา 3-5 บาทต่อลูก เท่านั้น แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จับมือกับผู้ประกอบการงดนำเข้ามะพร้าว 3 เดือน แต่ไม่เป็นผล เตรียมประเมินมาตรการช่วงสิ้นเดือน ต.ค.นี้ วันนี้เราจะสำรวจสาเหตุของการตกต่ำของราคามะพร้าวและแนวทางรอดและการแก้ปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำกัน ถ้ามองแบบผิวเผินอาจจะคิดว่า การตกต่ำของราคามะพร้าวก็คงเป็นไปตามกลไกตลาดแบบพืชผลชนิดอื่นๆ แต่จริงๆ แล้วในภาพรวมนั้นความต้องการมะพร้าวยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 ความต้องการใช้มะพร้าวทั้งประเทศอยู่ที่ 1.047 ล้านตัน และเพิ่มขึ้นมาเป็น 1.425 ล้านตัน ในปี 2560 โดยความต้องการใช้มะพร้าวผลในประเทศ เป็นการใช้เพื่อการแปรรูปในอุตสาหกรรมกะทิสำเร็จรูปถึงร้อยละ 60 เป็นการใช้เพื่อการบริโภคโดยตรงเพียง 35% และใช้ในการสกัดน้ำมันมะพร้าว 5% ของความต้องการทั้งหมด ในขณะที่ผลผลิตมะพร้าวของไทยลดลงไปมาก โดยหากเทียบกับเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ในปี 2546 ประเทศไทยมีผลผลิตมะพร้าว 2.12 ล้านตัน แต่ปัจจุบันในปี 2560 ผลผลิตมะพร้าวของเราเหลือเพียง 8.83 แสนล้านตัน หรือผลผลิตมะพร้าวของเราลดลงไปกว่า 60 % ในเวลาเพียง 15 ปี สาเหตุหนึ่งที่สำคัญของการลดลงมาจากทั้งการลดลงของพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ โดยในปี 2546 มีเนื้อที่ให้ผลผลิตมะพร้าว 1.74 ล้านไร่ แต่ในปี 2560 ลดลงเหลือ 1.10 ล้านไร่ หรือลดลงไปประมาณ 6.40 แสนไร่ ส่วนผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ก็ลดลง จากเดิมประเทศไทยมีผลผลิตมะพร้าวในปี 2546 เฉลี่ยต่อไร่ 1,217 กก./ไร่/ปี แต่ในปี 2560 กลับเหลือเพียงแค่ 754 กก./ไร่/ปี การลดลงของผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เป็นเพราะสวนมะพร้าวที่เหลืออยู่ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นสวนมะพร้าวที่มีอายุมากและขาดการบำรุงดูแลรักษา รวมถึงการเกิดศัตรูพืชระบาดในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้ผลผลิตมะพร้าวของไทยลดลงอย่างมาก ผลผลิตมะพร้าวแทบไม่มีความเป็นฤดูกาล ปัญหาหนึ่งของผลผลิตการเกษตรอื่นๆ คือ ความเป็นฤดูกาล หรือการมีผลผลิตออกมามากในบางช่วงฤดูกาล ทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำ แต่มะพร้าวกลับเป็นพืชที่แทบไม่มีความเป็นฤดูกาลเลย ในภาพรวมของทั้งประเทศ มะพร้าวให้ผลผลิตในทุกเดือนใกล้เคียงกัน ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2560 เดือนที่มะพร้าวมีผลผลิตมากที่สุดคือ มิ.ย. มีผลผลิต 11.02% ของผลผลิตทั้งหมดเท่านั้น เมื่อเจาะลงไปในรายละเอียด เราจะพบว่าในช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ช่วงเวลาที่ราคามะพร้าวลดต่ำลงอย่างมากอยู่ 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงแรก จากเดือน ม.ค.-ธ.ค. 2555 ราคาลดลงจาก 12.83 บาท/ลูกในเดือน ม.ค. 2555 เหลือเพียง 3.15 บาท/ลูกในเดือน ส.ค. 2555 โดยในปี 2555 เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 5.47 บาท/ลูก ดังนั้นเกษตรกรจึงประสบปัญหาขาดทุนในช่วงเวลาดังกล่าว ก่อนที่ราคาจะเพิ่มขึ้น และในช่วงที่ 2 จากเดือน ธ.ค. 2560 หรือ 1 เดือนหลังจากนายกฯ แนะนำให้ปลูกมะพร้าว ราคามะพร้าวก็ลดลงจาก 17.21 บาท/ลูก เหลือเพียง 13.55 บาท/ลูกในเดือน มี.ค. 2561 ก่อนจะลดลงเหลือ 7.41 บาท/ลูก ในเดือน มิ.ย. 2561 หรือลดลง 58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะอะไร ทำไมราคามะพร้าวจึงตก? หากพิจารณาถึงช่วงเวลาแล้วจะเห็นชัดว่า การลดลงของราคามะพร้าวที่เกษตรกรขายได้ในทั้งสองช่วงจะมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของปริมาณการนำเข้ามะพร้าวที่เพิ่มขึ้นมากในปี 2554 และปี 2560 ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ในอดีตประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกมะพร้าว จนกระทั่งถึงปี 2553 ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศผู้ส่งออกมะพร้าว โดยส่งออกมะพร้าวผลสดอยู่ที่ 33,249 ตัน และนำเข้ามะพร้าวผลแห้งเพียงประมาณ 3,207 ตันเท่านั้น แต่ในปีถัดมา 2554 การเกิดศัตรูพืชระบาดทำให้ผลผลิตมะพร้าวทั่วประเทศลดลง จึงมีการนำเข้ามะพร้าวผลแห้งเข้ามา 111,611 ตัน จนเป็นผลให้มะพร้าวราคาตกต่ำลงในปี 2555 อย่างไรก็ดี การนำเข้ามะพร้าวผลแห้งของไทยในปี 2555 ก็ลดลงเหลือ 27,476 ตัน แต่ประเทศไทยก็เริ่มกลับมาเป็นประเทศผู้นำเข้ามะพร้าวในปี 2557 และนำเข้าอยู่ประมาณ 1-2 แสนตัน/ปี แต่ในปี 2560 ปริมาณการนำเข้ามะพร้าวผลแห้งเพิ่มขึ้นเป็น 410,839 ตัน ส่วนการที่เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวตั้งข้อสังเกตว่าราคามะพร้าวที่ตกต่ำมาจากการนำเข้าจากต่างประเทศนั้น อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ก็ได้ออกมาชี้แจงว่าปัญหาราคาตกต่ำไม่ได้เกิดจากมะพร้าว เพราะนำเข้าตามช่องทางปกติ เพราะยอดการนำเข้า 8 เดือน คือตั้งแต่ ม.ค.- ส.ค.ของปี 2561 มีเพียง 195,303 ตัน ลดลงร้อยละ 27.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีการนำเข้า 268,672 ตัน ขณะที่ราคามะพร้าวนำเข้ามีราคา 8.77 บาท/ลูกแต่ราคาในประเทศเฉลี่ย 4.5 บาท/ลูก เท่านั้น จึงตั้งข้อสังเกตว่ามะพร้าวที่เข้ามากดดันราคาขณะนี้เป็นมะพร้าวลักลอบนำเข้า กรมการค้าภายในได้ประสานให้กรมศุลกากรคุมเข้มในการตรวจสอบ และยืนยันว่าที่ผ่านมามีการกำหนดโควต้านำเข้ามะพร้าวและการใช้มาตรการทางภาษีนอกโควต้า ซึ่งสูงถึง 54% เพื่อลดการนำเข้าและเตรียมเสนอมาตรการเพิ่มเติมไปยังคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชพิจารณาเพิ่ม โดยใช้มาตรการด้านสุขอนามัยพืชเพื่อปกป้องการนำเข้า รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์นำเข้ามะพร้าว ป้องกันนำเข้ามาใช้ผิดวัตถุประสงค์ แต่การห้ามนำเข้าเลยนั้น อาจทำไม่ได้เพราะขัดข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ส่วนข้อเสนอให้กำหนดราคากลางมะพร้าวที่ลูกละ 15 บาทนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะกรมการค้าต่างประเทศไม่มีอำนาจ ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ประกาศใช้มาตรการชะลอการนำเข้ามะพร้าวเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2561 และเตรียมประเมินมาตรการดังกล่าวช่วงสิ้นเดือนตุลาคมนี้ สำหรับสถานการณ์การผลิต การบริโภคและการนำเข้า ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรชี้ให้เห็นว่า ปี 2561 ไทยสามารถผลิตมะพร้าวผลได้ปริมาณ 832,895 ตัน ในขณะที่ความต้องการใช้มีปริมาณ 1,412,840 ตัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศปริมาณ 579,945 ตัน ทางออก ทางรอด!! ของชาวสวนมะพร้าว จึงอยู่ที่การบริหารการนำเข้ามะพร้าว มีการใช้มาตรการเด็ดขาดกับพวกเห็นแก่ตัวลักลอบนำเข้ามะพร้าว ทำให้ราคาตลาดเสียไป เมื่อเห็นชัดแจ้งแล้วว่า ราคามะพร้าวในประเทศที่ลดลง มันขึ้นอยู่กับปริมาณการนำเข้ามะพร้าว ดังนั้นภาครัฐต้องบริหารจัดการการนำเข้าให้ดีขึ้น ซึ่งมะพร้าวยังมีข้อแตกต่างจากสินค้าเกษตรอื่นๆ เพราะการนำเข้ามะพร้าวยังมิได้เป็นไปในลักษณะการค้าแบบเสรีโดยสมบูรณ์ แต่ยังอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาล ผ่านคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ซึ่งเพิ่งกำหนดกรอบการนำเข้าใหม่สำหรับปี 2560-2562 การบริหารจัดการการนำเข้ามะพร้าว จึงควรเป็นไปในลักษณะที่ยืดหยุ่นขึ้น โดยมีเสถียรภาพของราคาเป้าหมายในประเทศเป็นเกณฑ์ เช่น กำหนดช่วงราคามะพร้าวในประเทศที่ประมาณ 10-13 บาท/ลูก ผู้นำเข้าควรจะหยุดหรือลดการนำเข้าหากราคามะพร้าวในประเทศต่ำกว่า 10 บาท/ลูก และจะมีการนำเข้ามากขึ้น หากราคามะพร้าวเกินกว่า 13 บาท/ผล อันนี้เป็นตัวเลขสมมุตินะครับโดยพิจารณาจากราคามะพร้าวนำเข้าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 8.38-11.20 บาท/ปี ในปี 2557-2560) ซึ่งหากเราสามารถรักษาระดับราคาในประเทศไว้ได้ ก็น่าจะเป็นแรงจูงใจและการสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องเกษตรกรในการกลับมาปลูกหรือบำรุงดูแลสวนมะพร้าวให้มีผลผลิตมากขึ้น เพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้และทั้งนั้น ถ้ามองลึกลงไปก็ความเป็นไปได้ในการที่จะสร้างเสถียรภาพของราคามะพร้าวได้ เพราะโครงสร้างตลาดมะพร้าวนำเข้า คือ การนำมาทำกะทิสำเร็จรูป ที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่จริงๆ เพียงไม่กี่รายเท่านั้น (ส่วนแบ่งตลาดของ 4 รายใหญ่มีมากกว่า 90% ของทั้งหมด) เพราะฉะนั้น หากกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจกะทิสำเร็จรูป เห็นถึงความสำคัญของการรักษาเสถียรภาพราคามะพร้าว และให้ความร่วมมือโดยคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมของชาติ ก็น่าจะทำได้ไม่ยาก และจะเป็นผลดีต่อทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการเองด้วย ข่าวที่เกี่ยวข้อง    ต้นตอราคาตกชาวสวนมะพร้าวเตรียมบุกกรุงฯ จี้ แก้ราคาดิ่งเหว   จี้กรมศุลฯ ตรวจสอบมะพร้าวเถื่อน ต้นตอราคาตก พาณิชย์ระงับนำเข้ามะพร้าว 3 เดือน