ส่องแนวคิดใหม่ จากอดีตวิศวะ สู่การนำหมู่บ้าน “ปลอดสารเคมีและไร้ขยะ”

by ThaiQuote, 27 พฤษภาคม 2563

ทำความรู้จักกับ “ธีรวัฒน์ ต๊ะวิกา” อดีตวิศวกรที่ตัดสินใจลาออก เพื่อพัฒนาบ้านเกิดด้วยการเกษตรที่ยั่งยืน และผลสำเร็จที่ได้กลับมาคือหมู่บ้านที่ไร้ขยะ และไร้ซึ่งสารเคมี

สิบกว่าปีก่อนหมู่บ้านทุ่งศรี อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ เป็นสังคมเกษตรแบบดั้งเดิม ส่วนใหญ่ทำนา ปลูกข้าวโพด และใบยาสูบ ตลอดทั้งปีไม่มีการหยุดพักบำรุงรักษาสภาพดิน พ่นยาฆ่าแมลงทุกฤดูกาล สุขภาพเกษตรกรจึงพลอยได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ชายในฐานะหัวหน้าครอบครัวต้องจากไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บก่อนวัยอันควร ซึ่งเป็นผลพวงจากยาฆ่าแมลงและมลพิษจากการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร หมู่บ้านทุ่งศรีในอดีตจึงถูกเรียกขานว่า “หมู่บ้านแม่ม่าย”

ในปี 2548 นายธีรวัฒน์ ต๊ะวิกา วิศวกรหนุ่มตัดสินใจลาออกจากงานประจำและมุ่งหน้าสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อนำความรู้วิศวกรรมด้านการเกษตรจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มาสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ของบ้านทุ่งศรี หวังฟื้นฟูปัญหาสภาพสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยเริ่มจากรวมกลุ่มสูงอายุที่ปลดระวางจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวกลุ่มเล็ก ๆ มาช่วยกันสร้างวิถีเกษตรยั่งยืน

ช่วงเริ่มต้นผู้ใหญ่ธีรวัฒน์มุ่งมั่นขยันเขียนโครงการส่งไปตามหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อขอรับการสนับสนุนความรู้ทางวิชาการด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ เมื่อเวลาผ่านไป 3 – 4 ปี จึงได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นแนวทางพัฒนาชุมชน และแก้ไขปัญหาปากท้อง เปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรยั่งยืนโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มุ่งส่งเสริมการเกษตรแบบผสมผสาน

เมื่อปัญหาปากท้องเริ่มคลี่คลายและเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ชาวบ้านจึงเริ่มเปิดรับแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ โดยในปี 2553 จึงเกิดกระบวนการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ ทุกครัวเรือนต้องคัดแยกขยะที่บ้านตัวเอง พร้อมประกาศตัวเป็นหมู่บ้านที่ไม่ “ส่งเงินค่าเก็บขยะ” และ “คืนถังขยะ” ให้กับเทศบาลไปให้หมด จากนั้นจึงตั้ง “กองทุนถุงดำ” จัดเก็บขยะมารวมกันเพื่อคัดแยกขยะออกเป็นประเภทต่าง ๆ ก่อนนำไปขาย แปรรูปหรือใช้ประโยชน์ซ้ำ

วิธีการจัดการขยะของบ้านทุ่งศรีเริ่มจาก

1.ขยะประเภทที่สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิลสร้างรายได้แก่ชุมชน เช่น หมวก แจกัน พวงกุญแจ ของชำร่วย หรือของที่ระลึกต่าง ๆ ซึ่งเกิดเป็นอาชีพหลังพาชาวบ้านไปฝึกอบรม

2.ขยะประเภทนำกลับมาใช้ใหม่ที่สามารถขายให้กับเทศบาลหรือพ่อค้ารับซื้อของเก่าทั่วไป อาทิ พลาสติก กระดาษ หรือขยะอันตรายให้นำไปทิ้ง ณ จุดที่กำหนดไว้

3.ขยะประเภทเศษอาหารนำไปทำปุ๋ยหมัก น้ำหมัก หรือนำไปเลี้ยงไส้เดือนพันธุ์แอฟริกาไนท์ เพื่อนำดินมูลไส้เดือนมาปลูกเมล่อน องุ่น มะเขือเทศ ฯลฯ และ

4.ขยะประเภทกระดูกและเศษเนื้อนำไปให้สุนัขกิน รวมถึงขยะประเภทเศษเปลือกผลไม้หรือผักนำไปเป็นอาหารแม่พันธุ์โค และเมื่อได้มูลโคจะนำไปทำปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้ทุกวันนี้ในแต่ละบ้านแทบไม่เหลือขยะให้จัดเก็บ

บ้านทุ่งศรีที่ล่มสลายสามารถพลิกฟื้นกลายเป็นชุมชนต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพของลูกบ้านดีขึ้น มีคนนอกหมู่บ้านมาดูงาน กลายเป็นแหล่งเรียนรู้และเปิดการท่องเที่ยวโฮมสเตย์

ผู้ใหญ่ธีรวัฒน์ ในฐานะผู้นำแนวคิดใหม่มาพัฒนาหมู่บ้าน โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเข็มทิศทำงาน และนำพาให้ชุมชน “อยู่พอดี มีพอใช้ ใจเป็นสุข” จึงทำให้ได้รับรางวัลอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ดีเด่นระดับประเทศ ด้านการจัดการขยะมูลฝอย ประจำปี 2562

*ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก กลุ่มสื่อสารสิ่งแวดล้อม กองส่งเสริมและเผยแพร่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

 

บทความที่น่าสนใจ