รู้จัก "มะเร็งโคนลิ้น" ภัยเงียบคร่า "อาจารย์โต้ง ไกรศักดิ์”

by ThaiQuote, 13 มิถุนายน 2563

"มะเร็งโคนลิ้น" มีแนวโน้มที่พบมากขึ้นในคนไทย ผู้ป่วยส่วนมากที่เป็นโรคนี้มักจะได้รับการวินิจฉัยในระยะลุกลามแล้ว แนะหากกลืนลำบาก กลืนเจ็บ เลือดออกทางช่องปาก ปวดหู พูดเสียงเปลี่ยน มีก้อนที่คอ รีบพบแพทย์

จากกรณีการเสียชีวิต ด้วยโรคมะเร็งโคนลิ้น ของ "อาจารย์โต้ง ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ" อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บุตรชายของอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่เสียชีวิตลงอย่างสงบที่ รพ.ศิริราช เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา สิริอายุ 72 ปี ซึ่งก่อนหน้าที่จะเสียชีวิต "อาจารย์โต้ง" ต้องต่อสู้กับอาการป่วยโรคมะเร็งโคนลิ้น อยู่นานกว่า 5 ปีทำให้ต้องเข้าออกโรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า "โรคมะเร็งโคนลิ้น" ทางการแพทย์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของมะเร็งคอหอยส่วนปากหรือที่เรียกว่ามะเร็งคอหอยหลังช่องปาก แม้ขณะนี้จะพบมะเร็งดังกล่าวได้น้อยในคนไทย โดยในปี 2558 พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งคอหอยส่วนปากรายใหม่ 674 ราย ซึ่งถือว่าน้อยถ้าเทียบกับจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ทั้งหมด ซึ่งมีปีละ 122,757 ราย แต่ก็พบว่ามีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยชนิดของมะเร็งคอหอยส่วนปากที่พบบ่อยที่สุด คือ มะเร็งชนิด Squamous cell carcinoma ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับมะเร็งศีรษะและลำคอที่พบมากที่สุด ส่วนสาเหตุของการเกิดมะเร็งคอหอยส่วนปากนั้น เกิดจากการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และการติดเชื้อไวรัส Human papilloma virus (HPV) ซึ่งเป็นไวรัสที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น การมีคู่นอนหลายคนและการมีเพศสัมพันธ์ทางปากจึงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงโรคนี้ด้วย


ด้าน นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวถึง อาการของมะเร็งคอหอยส่วนปากว่า ผู้ป่วยมักมีอาการกลืนลำบาก เจ็บคอเวลากลืนอาหาร มีเลือดออกทางช่องปาก ปวดหู พูดเสียงเปลี่ยน มีก้อนที่คอ หากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ส่องกล้องทางหูคอจมูกเพื่อตรวจในลำคอ หากจำเป็นแพทย์จะสั่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กเพิ่มเติม

“การรักษามะเร็งคอหอยส่วนปากระยะเริ่มต้นเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนควรตระหนัก เพราะหากพบระยะเริ่มต้นจะสามารถรักษาอย่างทันท่วงทีและมีโอกาสหายสูง วิธีการรักษา ได้แก่ การให้รังสีรักษา และการผ่าตัด ส่วนการรักษากรณีเป็นมะเร็งระยะลุกลามที่ผ่าตัดไม่ได้ คือการให้รังสีรักษาควบคู่กับเคมีบำบัด ซึ่งทั้งหมดจำเป็นต้องประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เนื่องจากมีปัจจัยที่ต้องคำนึงหลายประการ” ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม สำหรับการป้องกันโรคทำได้โดยการงดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา รวมถึงมีการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ที่สำคัญหากมีอาการหรือสงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อมะเร็งคอหอยส่วนปาก ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ซึ่งจะช่วยให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีและลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งคอหอยส่วนปากได้

 

ข่าวที่น่าสนใจ