ปลูกผัก “On the Table” ความสุขสร้างได้ด้วยตัวเอง

by ThaiQuote, 27 มกราคม 2564

เรื่อง-ภาพ คเชนทร์ พลประดิษฐ์

“ต้นไม้มีพลัง เป็นพลังยิ่งใหญ่ ที่สามารถงอกเงยทะลุดินออกมา จากเม็ดที่เหมือนตายแล้ว โดยมีแค่น้ำหล่อเลี้ยงเท่านั้น”

 

“ลุงสุเทพ กุลศรี” เอ่ยกับฉัน เมื่อคิดถึงอดีต ตามประสาเด็กกำลังซน ที่เด็ดเอาดอกบานชื่นมาโปรยเล่น ก่อนวันนึงมาพบว่า เหล่าต้นกล้าบานชื่นนั้นโตทะลุดินขึ้นมาเป็นแผง นั่นคือจุดเริ่มต้นของลุง ก่อนที่วันนี้จะกลายมาเป็น Farming Coaching และปลุกปั้นแนวคิดการปลูกผักในง่ายสำหรับคนทุกวัย ในทุกที่ โดยจัดตั้งเป็น ศูนย์เรียนรู้และพัฒนาการเกษตรตลาดโรงเกลือท้ายเกาะ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี”

 


ถุงเพาะชำ แปลงผัก สำหรับคนเมือง

 

คนเมืองปลูกผักกินเอง โดยใช้พื้นที่จำกัดอย่าง ดาดฟ้า ระเบียงหลังห้อง หรือพื้นที่ภายในบ้าน ทาวน์เฮ้าส์ ที่ถือว่ามีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ย และต้องสร้างให้เกิดประโยชน์มากที่สุด กำลังเป็นแนวความคิดที่ได้รับความนิยม และใครๆก็ทำได้ แล้วจะปลูกอย่างไร

 

เริ่มต้นต้องเตรียมอุปกรณ์ที่สำคัญ คือ ถุงเพาะชำ หรือ ถุงปลูกผัก กลายมาเป็นแปลงผักสำหรับคนเมือง ซึ่งใช้เนื้อที่น้อย ก็มีผักให้กินได้ เช่น พื้นที่ประมาณ 1 ตร.ม. (ถุงปลูกผักขนาด 5x11 ) เราจะได้ผักจำนวน 25 ถุง ซึ่งสามารถวางบนโต๊ะ ชั้นวาง ตามระเบียง นอกจากนี้ก็มีดิน ที่ปรุงด้วยการผสมของดินธรรมดา ขุยมะพร้าว และปุ๋ยคอก รวมลงทุนครั้งแรก ต่อผัก 1 ต้น ไม่เกิน 20 บาท เท่ากับว่า ใช้งบไม่เกิน 500 บาท เราจะได้แปลงผักเป็นของตัวเอง 1 แปลง

 

 

 

 


ปลูกผักกินเองที่บ้าน เท่ากับมื้ออาหารในร้านหรู

 

คำถามคือต้องปลูกมากน้อย แค่ไหนถึงจะเพียงพอให้เราไม่ต้องซื้อผักกิน

 

“หากเป็นผักสลัด มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 45 วัน จะอยู่ที่ประมาณ 40 ต้น สำหรับ 1 เดือน เท่ากับ 10 ต้น ต่อ 1 สัปดาห์ เราจะได้ผักสลัดปริมาณเพียงพอที่จะกินแบบร้านอาหารหรูๆในทุกมื้อ หรือหากเนื้อที่ปลูกไม่พอก็อาจลดลงมาเหลือ 20 ต้น จะเท่ากับ 5 ต้นต่อสัปดาห์ ก็ต้องขึ้นอยู่กับจำนวนการบริโภคของแต่ละคนที่มีความต้องการผักในมื้ออาหารไม่เท่ากัน

 

โดยจำนวนที่ลุงพูดนี้ต้องปลูกหมุนเวียนตลอด เช่นเราตัดกิน 5 ต้นนี้หมดใน 1 สัปดาห์นี้ ก็นวดพรวนดินในถุง แล้วดึงรากเก่าออก ใส่ปุ๋ยคอกเพิ่มไปนิดนึงเพื่อเพิ่มปริมาณดิน ก่อนเอาต้นกล้าผักที่เราเพาะไว้ใส่ลงไป เราก็จะมีผักกินไปเรื่อยๆ แบบไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนดิน เพราะดินแต่ละถุงที่ปลูกนั้นมีอายุการใช้งานนานเป็นปี”

 

ลุงสุเทพเอ่ยคุยกับฉัน ขณะลงมือขยำนวดดินในถุง ก่อนหย่อนต้นกล้าที่เพาะไว้ลงไปปลูกผักต้นใหม่ พร้อมด้วยเสียงเพลงแจ๊ส จากลำโพงตัวเล็กๆ เคล้าคลอ ลุงสุเทพอธิบายว่า เพลงนอกจากจะทำให้เราอารมณ์ดีกับการทำงานแล้ว คลื่นเสียงยังเป็นพลังงานรูปแบบหนึ่งที่ปล่อยออกไปในลักษณะบีบอัด ช่วยนวดสปาให้กับกิ่ง ก้าน ใบของต้นไม้ ทำให้เซลล์ต้นไม้มีการเจริญเติบโตได้ดี

 

คุยกันมาเกือบครึ่งวัน ฉันเพิ่งรู้ว่า “ลุง” ไม่ได้เรียนจบเกษตรมาโดยตรง แต่กลับพลิกชีวิตของตนเองจากเด็กเรียนสายอิเล็กทรอนิกส์ ปิดบริษัทของตนเอง ก่อนจะปิดตัวลงเมื่อเกิดต้มยำกุ้ง ผันตัวเองมาลงมือทำเกษตรอย่างจริงจัง

 


ปลูกผักสไตล์คนเมือง ต่อยอดสู่ผู้สูงอายุ-ผู้พิการ

 

แนวคิดเรื่องการปลูกผักของคนเมือง ที่ใช้พื้นที่น้อย เวลาไม่มาก ทำได้ในช่วงเวลาว่าง และสามารถต่อยอดสร้างรายได้เสริม กำลังถูกถ่ายทอดไปสู่กิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ ในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องด้วยรูปแบบที่ง่าย เข้าถึงได้ และใช้เวลาว่างอย่างเป็นประโยชน์

 

“เราคิดว่าประเทศไทยปัจจุบัน กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ลุงจึงมาคิดต่อว่า ถ้าคนแก่ที่อยู่บ้านเฉยๆ ในเมืองได้มีกิจกรรมที่ทำในเวลาว่าง งานหนักที่สุดของการปลูกผักในถุงวางบนโต๊ะ คือ การขยำนวดดินในถุง ลดการทำงานในการปลูกผักแบบแปลงถึงกว่า 80% ซึ่งเราสามารถทำได้ทุกคน เป็น Modern Farming ที่ตอบโจทย์ได้ทุกๆรูปแบบ คนรุ่นใหม่ทำได้ง่าย แล้วผู้สูงอายุเองก็สามารถทำได้ เราจึงคิดไปถึงกลุ่มเปราะบาง และผู้พิการ เขาก็อยากที่ลองจะทำด้วยตัวเอง” ลุงสุเทพเอ่ยถึงแนวคิดเพื่อสานต่อไปยังกลุ่มคนเปราะบางในสังคม

 

 


สอน “ผู้พิการทางสายตา” ปลูกผัก 1 ในเป้าหมายสูงสุด

 

“เรามองว่าผู้พิการก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งเขาเองก็อยากที่จะลองปลูกผักด้วยตัวเอง ทั้งผู้พิการที่ต้องนั่งวีลแชร์ หรือผู้พิการทางสายตา ถือเป็นความภูมิใจของลุงนะถ้าสามารถสอนให้เขาปลูกผักกินเองได้” ลุงสุเทพบอกฉันด้วยแววตามุ่งมั่น

 


ปลูกผัก คือ ทางตรง

 

ด้วย “พลังของต้นไม้” ที่เอ่ยกับฉันไว้ในข้างต้นนั่นแหละ ส่งต่อให้ ลุงสุเทพ เดินมาถึงทุกวันนี้ ความรู้ที่มีคือการลองผิดลองถูกของตัวเอง ศึกษาจากการลงมือทำ เรียบเรียงให้เป็นเรื่องราว จนได้ข้อสรุปว่า การปลูกต้นไม้ ปลูกผัก มีหลักอยู่ด้วยกัน 4 ข้อ คือ

 

1.ปรุงดิน 2.เพาะกล้า ย้ายลงถุง 3.การดูแลเจริญเติบโต 4.โรคและแมลงศัตรูพืช

 

“มีน้องคนหนึ่งเคยพูดไว้ว่า “คนเรามักจะเดินอ้อม” เรากินอาหารทุกวัน แต่เราไปรับจ้าง ได้เงินมา เอาเงินไปซื้ออาหาร แต่การที่เราเป็นผู้ผลิตอาหารเอง มันเป็นทางตรง ส่วนหนึ่งทำให้เรามีอาหารกิน มีรายได้ มีความมั่นคงมากขึ้น แล้วก็ได้ความปลอดภัยทางอาหาร ถามว่าเราได้อะไรเยอะมั้ย มันมีความสุขตามกระบวนการ เราได้สร้างการแบ่งปัน เราได้หลายมิติ”

 

 


ความสุขเกิดตั้งแต่คิดที่จะให้

 

การเลือกที่จะต่อยอด ถ่ายทอดความรู้การปลูกผักในถุงบนโต๊ะ ให้กับผู้สูงอายุ ลุงสุเทพบอกกับฉันว่า มันคือความสุขที่ได้แบ่งปันความรู้ให้กับคนอื่น

 

“ปฏิเสธไม่ได้อันดับแรกที่เราเลือก คือตัวเราเอง เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ขณะเดียวกันเราก็คิดว่าอาชีพตรงนี้มันสามารถเชื่อมโยงไปเพื่อสังคมได้ ลุงมีความสุขกับการแบ่งปันความรู้ให้กับคนอื่น สมมุติว่าเราตั้งใจที่จะให้อะไรให้ใครซักอย่างนึง ความรู้สึกมันเกิดขึ้นกับเราตั้งแต่เขายังไม่ได้รับแล้ว ไม่ใช่ว่าพอมีคนรับแล้วมีความสุข คนให้นี่แหละที่มีความสุขตั้งแต่คิดที่จะให้ และจะมีความสุขอีกเมื่อรู้ว่ามันเป็นประโยชน์ มันมีส่วนสร้างสังคมที่ดี ไม่ว่าจะเรื่องอาชีพ ความเป็นอยู่ นี่แหละคือความสุข” เราเห็นรอยยิ้มเล็กๆ จาก ลุงสุเทพ

 

 



ทำงานที่รัก ก็เหมือนได้พักทุกวัน

 

“ถามว่าลุงเหนื่อยมั้ย ถ้าเราได้ทำงานที่เรารัก ก็เหมือนเราได้พักทุกๆวัน เพราะฉะนั้นเราไม่รู้สึกว่าเหนื่อย มันยังมีแรงผลักดันให้เดินต่อไปเรื่อยๆ ถึงจะเป็นงานที่หนักมันก็ไม่ได้ลำบาก การทำงานก็เหมือนเราได้เล่นได้พักผ่อนไปในตัว ลุงไม่เคยนับเรื่องรายได้นะ ไม่เคยทำบันทึกรายรับ-รายจ่าย เรารู้อยู่แล้วว่าสถานะมันเป็นยังไง

 

ถ้าไปมัวคร่ำเคร่งอยู่กับการจดบันทึก ลุงว่ามันกระด้างต่อจิตใจเกินไป เพราะเราก็รู้อยู่แล้วว่ารายได้มันไม่เยอะ เราก็อย่าจ่ายให้มันเยอะ ฉะนั้นบนวิถีความเป็นอยู่ เราจะอยู่อย่างไรบนโลกนี้ให้สมดุล ให้มันอยู่ได้ อย่ากังวลจนต้องมีกฎเกณฑ์ที่บีบบังคับตัวเองจนเกินไป ลุงคิดอย่างนี้นะ”

 

ลุงสุเทพ บอกกับฉัน ด้วยท่าทางสบายๆ ในระหว่างที่ชักชวนให้ฉันชิม “มะเขือเทศราชินี” ผลผลิตอย่างหนึ่งจากศูนย์เรียนรู้และพัฒนาการเกษตรตลาดโรงเกลือท้ายเกาะ

 

สนใจสอบถามวิธีการปลูกผักในถุงวางบนโต๊ะ ได้ที่ ลุงสุเทพ กุลศรี โทร 089-9277122

 

 

บทความที่น่าสนใจ