นักวิชาการจุฬาฯ แนะวิธีแก้ปัญหา "ขยะอาหาร" ในเมืองกรุงอย่างยั่งยืน

by ThaiQuote, 17 กรกฎาคม 2565

 นักวิชาการจุฬาฯ ชี้ปัญหาขยะอาหารในกรุงเทพมหานคร เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการกำจัดขยะโดยรวม เพราะเมื่อขยะเปียกไปรวมกับขยะประเภทอื่น จะทำให้การรีไซเคิลทำได้ยากลำบาก แนะวิธีแก้ปัญหา "ขยะอาหาร" ในเมืองกรุงอย่างยั่งยืน

 

ผศ.ดร.ขนิษฐา แต้มบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงปัญหาขยะอาหารในกรุงเทพมหานคร ว่าเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการกำจัดขยะโดยรวม เพราะเมื่อขยะเปียกไปรวมกับขยะประเภทอื่น จะทำให้การรีไซเคิลทำได้ยากลำบาก จากข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในปีงบประมาณ 2563 ขยะอาหารคิดเป็น 45.41% โดยน้ำหนัก และมีขยะเฉลี่ย 9,519.81 ตันต่อวัน ส่วนปีงบประมาณ 2564 ขยะอาหารคิดเป็น 46.21% โดยน้ำหนัก และมีขยะเฉลี่ย 8,674.73 ตันต่อวัน เท่ากับขยะอาหารมีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณขยะมูลฝอยตามบ้านเรือน แต่มีการนำเศษอาหารมาใช้ประโยชน์เพียง 5.24% โดยเฉลี่ยเท่านั้น

"เมืองมีปัญหาเยอะ แต่ไม่ใช่ทุกปัญหา ผู้ว่าฯ จะแก้ได้ บางเรื่องเป็นปัญหาเชิงพฤติกรรมที่ชาวกรุงเทพต้องช่วยกันเปลี่ยน หรือบางปัญหามาจากภาคอุตสาหกรรม ที่ผู้ผลิตต้องแสดงความรับผิดชอบมากขึ้น" ผศ.ดร.ขนิษฐา ระบุ

ทั้งนี้ จากหนังสือ "การสร้างแรงจูงใจในการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย : กรณีศึกษาบรรจุภัณฑ์พลาสติกและขยะอาหาร" ได้ยกทฤษฎีลำดับขั้นการจัดการขยะอาหารในรูปแบบสามเหลี่ยมคว่ำ ที่ฝั่งยุโรปนำไปใช้ได้ผลดี คือเริ่มจากการป้องกันการสร้างขยะอาหารจากผู้ผลิต การบริโภคให้คุ้มค่าที่สุดทั้งสำหรับคนและสัตว์ การนำไปแปรรูปต่อ เช่น หมักปุ๋ย สร้างพลังงานทดแทน และสุดท้ายคือการนำไปทิ้ง ซึ่งมีตัวอย่างที่ดีเกิดขึ้นมากมายในประเทศไทย ที่อยากให้ประชาชนได้ศึกษา และช่วยกันขยายผล

• ลดอาหารเสียตั้งแต่ต้นทาง
วัตถุดิบอาหารสดส่วนใหญ่ เดินทางมาจากต่างจังหวัดเข้าสู่เมืองกรุง และมักเกิดความเสียหายระหว่างการขนส่งลอตใหญ่ เช่น เสีย ช้ำ ทำให้ต้องทิ้งไป มีการริเริ่มจากซุปเปอร์มาร์เก็ตบางรายรวมทั้งโครงการหลวง ที่ปรับกระบวนการขนส่ง และจัดการอาหารตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เช่น ปรับรูปแบบการห่อหุ้มวัตถุดิบให้เหมาะสมเพื่อลดความเสียหาย อีกทั้งเมื่อวัตถุดิบอาหารบนชั้นวางใกล้หมดอายุ ก็นำไปลดราคาหรือบริจาค ก่อนที่อาหารเหล่านั้นจะเสียจนไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีก

 

 

• อาหารส่วนเกินอย่าทิ้ง
ธนาคารอาหาร (Food Bank) มีส่วนสำคัญอย่างมากทั้งในด้านการพัฒนาสังคม และการจัดการขยะ เป็นการนำอาหารส่วนเกินที่ยังมีคุณภาพดีมาแบ่งปันให้กับกลุ่มคนเปราะบาง ในสหรัฐอเมริกา มีการให้ Food Stamp กับผู้มีรายได้น้อย และสามารถนำมาขอรับอาหารได้ทุกวัน ในกรุงเทพมหานคร Food Bank ก็เป็นหนึ่งในนโยบายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. และมีการริเริ่มแล้วที่เขตบางขุนเทียน ในขณะที่ฝั่งเอกชนสามารถแบ่งปันอาหารได้ผ่านแอปพลิเคชั่นที่เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมระหว่างผู้ผลิตอาหาร อาทิ โรงแรม ร้านเบเกอรี่ คาเฟ่ ที่มีอาหารเหลือในแต่ละวัน นำมาลดราคาให้คนได้มาซื้อช่วงก่อนปิดร้าน

 

 

• ขยะอาหารไม่ควรเดินทาง
ในมุมการจัดการขยะอาหารที่ดีที่สุด คือ ขยะอาหารไม่ควรออกจากบ้านเรือน นั่นหมายถึงการบริโภคให้หมด หรือจัดการหมักภายในครัวเรือน เพราะอาหารเป็นขยะที่ย่อยได้ แต่เมื่อขยะอาหารออกจากบ้านไปสู่รถขยะแล้วจะสูญเสียค่าขนส่งเกินจำเป็น เนื่องจากขยะเปียกมีน้ำหนักมาก อีกทั้งความชื้นยังมีผลต่อเตาเผาทำให้ใช้พลังงานมาก ซึ่งทำให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ส่วนพื้นที่ที่สามารถรวบรวมเศษอาหารจำนวนมาก เช่น ฟู้ดคอร์ท หรือตลาด ควรจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับนำเศษอาหารมาหมักเป็นปุ๋ยชุมชน ตัวอย่างเช่น บนดาดฟ้าของห้างเซนเตอร์วัน มีฟาร์มผัก ชื่อ "wastegetable" ของบางกอก รูฟท๊อป ฟาร์มมิ่ง (ธุรกิจเพื่อสังคม) ซึ่งใช้ปุ๋ยหมักเหล่านี้มาปลูกผัก และขายผักให้แก่สมาชิก เป็นการสร้างรายได้จากของเหลือใช้ภายใต้วิถีเศรษฐกิจหมุนเวียน

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจ Food delivery ที่เติบโตขึ้น ทำให้เมืองมีขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกพ่วงมากับอาหารจำนวนมาก ซึ่งมีกระบวนการจัดการที่ต่างกับขยะอาหารโดยสิ้นเชิง ขยะพลาสติกต้องเข้าสู่การจัดการระดับอุตสาหกรรม

 

 

ผศ.ดร. ขนิษฐา แนะนำว่าสิ่งที่ผู้บริโภคทำได้ คือลดการใช้พลาสติก ปฏิเสธบรรจุภัณฑ์ที่เกินจำเป็น พลาสติกที่คุณภาพดีควรนำไปใช้ซ้ำให้นานที่สุด และสุดท้ายคือช่วยกันแยกขยะเพื่อลดภาระให้ กทม.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ:

อย. เข้มอาหารและขนมผสมกัญชา กัญชง เน้นย้ำอ่านฉลากและปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากก่อนบริโภค
https://www.thaiquote.org/content/247560

“มณีแดง” ยาอายุวัฒนะฝีมือคนไทย หวังย้อนเซลล์ชราคนอายุ 75 เยาว์วัยเหมือน 25 ปี
https://www.thaiquote.org/content/247541

สปสช.ยันไม่ได้ยกเลิก Home Isolation ชี้ให้เป็นดุลยพินิจแพทย์ พร้อมตามจ่ายค่ารักษาให้ ส่วนอภ. ปรับแผนเพิ่มสำรองยา
https://www.thaiquote.org/content/247558