สธ. พบสัญญาณผู้ติดเชื้อโควิด-อัตราครองเตียงเพิ่มขึ้น นายกฯ กำชับทุกหน่วยคุมเข้มโควิดหลังช่วงหยุดยาว

by ThaiQuote, 18 กรกฎาคม 2565

สธ. จับตาสถานการณ์โควิดหลังหยุดยาว พบสัญญาณผู้ติดเชื้อ-อัตราครองเตียงเพิ่มขึ้น ทางด้านนายกฯ กำชับทุกหน่วยงานรับมือ-คุมเข้มโควิดหลังช่วงหยุดยาว ยันมียาเพียงพอ ด้านผู้ว่าฯ กทม.พร้อมปรับกิจกรรมตามข้อเสนอสธ. หากเป็นต้นเหตุเสี่ยงคลัสเตอร์โควิด

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยสถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลก แนวโน้มพบผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ในบางประเทศแถบเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ขณะที่ผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ไม่เพิ่มขึ้น ส่วนสถานการณ์โรคโควิด-19 ประเทศไทย แนวโน้มพบผู้ป่วย ผู้ป่วยกำลังรักษา ในสัปดาห์นี้ใกล้เคียงช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ป่วยหนัก ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นปี ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์) ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น รวมทั้งกลุ่มที่อาจไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันของตนเองได้หลังรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เช่น ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยเปลี่ยนอวัยวะที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

 

ทั้งนี้ ในกทม. และปริมณฑล พบอัตราครองเตียงระดับ 2-3 สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้น และเริ่มพบสัญญาณจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในหลายจังหวัดท่องเที่ยว จึงต้องเน้นเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์การระบาดของโรค ช่วงหลังวันหยุดยาว โดยเฉพาะจุดเสี่ยงสำคัญต่อการระบาดเป็นกลุ่มก้อน เช่น โรงเรียน วัด ศาสนสถาน แหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งโรงพยาบาล และสถานประกอบการ

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำหรับประชาชน และผู้ประกอบการ ให้ทุกคนช่วยกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล "2U" โดยเฉพาะช่วง 2 สัปดาห์หลังวันหยุดยาว คือ Universal Prevention ขณะร่วมกิจกรรมคนจำนวนมาก หรืออยู่ในสถานที่ปิด (D: Distancing, M: Facemask, H: Hand washing, T: ATK test เมื่อมีอาการป่วย) โดยกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่ม 608 ต้องเร่งรับการฉีดวัคซีนในทุกเข็มตามมาตรการ Universal Vaccination เพื่อช่วยลดอาการป่วยหนัก และเสียชีวิต หากพบการติดเชื้อโควิด-19

ส่วนหน่วยงาน สถานประกอบการ พิจารณาให้พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง และไม่แสดงอาการหรือมีอาการป่วยเล็กน้อย ให้แยกกักตัวที่บ้าน 7 วัน และหลังจากนั้นกลับมาทำงานได้ โดยช่วง 3 วันแรก ให้สวมหน้ากากตลอดเวลา งดร่วมรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น และเลี่ยงเข้าร่วมกิจกรรมคนจำนวนมาก หรือ "ทำงานที่บ้าน (WFH) 7 + 3 วัน" ในส่วนของผู้สัมผัสเสี่ยงสูง สามารถทำงานได้ตามปกติ โดยสวมหน้ากากตลอดเวลา เลี่ยงร่วมกิจกรรมคนจำนวนมาก

"สำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง เช่น กลุ่ม 608 ที่เริ่มมีอาการป่วย ผู้ป่วยเริ่มมีสัญญาณอาการป่วยรุนแรงขึ้น ให้รีบเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้ได้รับยาต้านไวรัสให้ทันเวลา และลดการเสียชีวิต สำหรับกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เพียงพอ แม้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย Long Acting Antibody (LAAB)" นพ.โอภาส กล่าว

ส่วนแนวทางการใช้ Long Acting Antibody (LAAB) ในประเทศไทย จากการประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และ UHosNet วันที่ 1 ก.ค. 65 ได้มีปรับลดการจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จากเดิม 60 ล้านโดส ให้เหลือแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 35.4 ล้านโดส และเปลี่ยนวัคซีนบางส่วนเป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long-acting antibody : LAAB) จำนวน 257,500 โดส โดยคาดว่าจะได้รับมอบ LAAB ในลอตแรก ในวันที่ 25 ก.ค. 65 จำนวน 7,000 โดส โดยส่วนที่เหลือจะทยอยได้รับมอบภายในปี 65

นพ.โอภาส กล่าวว่า ข้อมูลทั่วไปของ LAAB ใช้ในกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่อายุ 12 ปี และมีน้ำหนัก 40 กิโลกรัมขึ้นไป ฉีดเข้ากล้ามเนื้อสะโพกทั้ง 2 ข้าง ใช้เป็นการป้องกันก่อนสัมผัสโรคโควิด-19 (Pre-exposure prophylaxis) ผู้ที่ไม่ได้กำลังติดเชื้อ หรือไม่ได้เป็นผู้ที่เพิ่งสัมผัสเสี่ยงสูงต่อโรคโควิด-19 และเป็นผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ด้วยความจำเป็นบางประการ (แพ้วัคซีน หรือส่วนประกอบของวัคซีน)

ด้าน นายชรินทร์ โหมดชัง ผู้เชี่ยวชาญด้าน Mathematic Modeling สำหรับโรคติดต่อ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่อการรักษาชีวิตคนในประเทศไทย พบว่า วัคซีนโควิดทุกชนิดที่ใช้ในประเทศไทยช่วยรักษาชีวิตคนในระหว่างวันที่ 8 ธ.ค. 63-8 ธ.ค. 64 ไว้ได้ประมาณ 382,600 คน หลังจากวันที่ 8 ธ.ค. 64 เป็นต้นมา วัคซีนโควิดสามารถช่วยรักษาชีวิตคนไทยจากโควิด-19 ไว้ได้เพิ่มเติมอีกประมาณ 107,400 คน

ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยจนถึงวันที่ 3 ก.ค. 65 วัคซีนโควิดสามารถช่วยรักษาชีวิตคนในประเทศไทย ไม่ให้เสียชีวิตจากการติดโควิด ไว้ได้แล้วประมาณ 490,000 คน ส่วนอัตราการเสียชีวิตของคนที่ติดโควิด-19 เฉลี่ยเท่ากับ 1.15%

"การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมีความสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 เพราะจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ แนะนำให้ประชาชนไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นหลังจากเข็มล่าสุดแล้ว 4 เดือน" นายชรินทร์ กล่าว

นายกฯ กำชับทุกหน่วยงานรับมือ-คุมเข้มโควิดหลังช่วงหยุดยาว

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีข้อสั่งการต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ขอให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์โควิด-19 และเตรียมความพร้อมรับมือต่อสถานการณ์หลังวันหยุดยาวต่อเนื่อง 5 วันที่ผ่านมา พร้อมกับเน้นย้ำมาตรการป้องกันตนเอง ทั้งการสวมหน้ากากอนามัยและการฉีดวัคซีน โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข และกรมประชาสัมพันธ์ เตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาล เช่น เตียง ยา และส่งเสริมประชาชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสุขภาพ เพื่อให้ทุกคนสามารถดำเนินชีวิตและกิจกรรมได้ตามปกติ พร้อมทั้งกำชับการจัดงานและกิจกรรมในทุกพื้นที่ ต้องดูแลและกวดขันมาตรการป้องกันโควิด-19 ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำว่า ไม่สามารถย้อนกลับไปที่เก่าได้

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ายารักษาโควิด-19 มีไม่เพียงพอหรือขาดแคลน โดยยืนยันว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมและมีสำรองเพียงพอ ทั้งเวชภัณฑ์ และยารักษาโรค เช่น ฟาวิพิราเวียร์ โมนูลพิราเวียร์ ซึ่งใช้ในการดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง แต่ขอให้เข้าใจด้วยว่าการให้ยารักษาจะต้องมีแพทย์วินิจฉัย ซึ่งจะเน้นที่กลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่ม 608 หรือผู้ที่มีอาการหนัก และหากอาการไม่รุนแรง จะใช้การรักษาตามอาการ

นายกรัฐมนตรี ยังกำชับเกี่ยวกับการใช้รถเมล์ไฟฟ้า EV โดยได้ติดตามให้มีการใช้งานด้วย ซึ่ง รมว.คมนาคม ได้รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งยืนยันว่า ภายในปีนี้จะมีรถเมล์ไฟฟ้าให้บริการประชาชนประมาณ 1,000 คัน ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีอยากให้มีการปรับโฉมรถตุ๊กๆ โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนในสิ่งที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังขอให้หน่วยงานต่างๆ สนับสนุนบทบาทและศักยภาพของสตรีไทย และให้รวบรวมรายชื่อผู้บริหารสตรีทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคการเมือง ทั้งที่ยังปฎิบัติหน้าที่และเกษียณอายุราชการแล้ว เพื่อนำไปรายงานหรือแจ้งต่อที่ประชุมในเวทีระดับนานาชาติ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและบทบาทของสตรีไทย ในบริบทต่างๆ

ผู้ว่าฯ กทม.พร้อมปรับกิจกรรมตามข้อเสนอสธ. หากเป็นต้นเหตุเสี่ยงคลัสเตอร์โควิด

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ได้เชิญเข้าร่วมหารือเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า กิจกรรมที่ กทม.จัดในที่โล่งแจ้ง ที่ผ่านมายังไม่เจอคลัสเตอร์จากกิจกรรม และจากการสอบถามผู้ป่วยในโรงพยาบาลพบว่าติดจากที่ทำงานและครอบครัวมากกว่า อย่างไรก็ดี หากมีเหตุผลพอก็สามารถยกเลิกการจัดกิจกรรมได้

"หากมีเหตุผลเพียงพอ ก็สามารถยกเลิกการจัดได้ งานเป็นของประชาชน ทำเพื่อให้มีกิจกรรม แต่หากมีผลลบ ก็พร้อมจะปรับตามข้อเสนอแนะ" ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)

 

สำหรับตัวเลขผู้ป่วยโควิดไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยข้อมูลผู้ป่วยของกทม.ขณะนี้ เป็นจำนวนการตรวจ RT-PCR ร่วมกับการตรวจ ATK ตัวเลขจึงสูง และถึงแม้คนจะติดเชื้อโควิดมากขึ้น แต่ความรุนแรงไม่มาก

ส่วนแนวทางการดำเนินงานของ กทม. ขณะนี้มี 4 เรื่อง คือ 1.เปิดให้บริการศูนย์บริการสาธารณสุขในวันเสาร์ 2.เปิดฉีดวัคซีนแบบ Walk In ในศูนย์สาธารณสุขในวันศุกร์และเสาร์ 3.ตรวจเชิงรุกในโรงเรียน เพื่อตัดตอนการแพร่ระบาด ซึ่งหลายคนติดจากโรงเรียน และ 4.ฉีดวัคซีนเชิงรุกให้กลุ่มเสี่ยง 608 ในชุมชน.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ:

นักวิทยาศาสตร์จีนพัฒนาหุ่นยนต์ปลาที่กินไมโครพลาสติกในทะเลได้
https://www.thaiquote.org/content/247573

สปสช.ยันไม่ได้ยกเลิก Home Isolation ชี้ให้เป็นดุลยพินิจแพทย์ พร้อมตามจ่ายค่ารักษาให้ ส่วนอภ. ปรับแผนเพิ่มสำรองยา
https://www.thaiquote.org/content/247558

AIS จับมือ Agnos health เปิดโอกาสให้ลูกค้าเช็กสุขภาพด้วยตัวเอง จากเทคโนโลยี AI ฟรี 24 ชั่วโมง ผ่านแอปฯ myAIS
https://www.thaiquote.org/content/247568