กินอย่าง “ยักษ์กะโจน” จะช่วยให้โลกเย็นลง คนยั่งยืนขึ้น

by ThaiQuote, 1 ตุลาคม 2565

การกินเป็นหัวใจสำคัญเพื่อให้สิ่งมีชีวิต และคนอยู่รอด แต่การกินของคนนับวันมีแต่จะเอาเปรียบโลก และเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโลกร้อน นี่คือแนวคิดเริ่มต้นที่จะกำหนดการกินแบบ “ยักษ์กะโจน” เพื่อให้โลกเย็น คนยั่งยืน 

 

ในงาน Sustainability Expo 2022 จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีเวทีเสวนาที่น่าสนใจอยากจะมาเล่าสู่กันฟังนั่นก็คือหัวข้อการเสวนา “ลดโลกร้อนด้วยการกินแบบ “ยักษ์กะโจน” โดยเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกันระหว่างดร. วิวัฒน์ ศัลยกำธรหรือที่ทุกคนเรียกว่า อาจารย์ยักษ์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และ โจน จันใด ผู้ก่อตั้งสวนพันพรรณ จ.เชียงใหม่ ซึ่งทั้งสองคนเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และร้านอาหาร ยักษ์กะโจน

 

 

อาจารย์ยักษ์ เริ่มต้นการเสวนาโดยบอกว่าสาเหตุของการกินแล้วทำให้เกิด “โลกร้อน” เกิดจากปัจจัยสำคัญ 3 ประการคือ

1) กระบวนการผลิตอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งอดีตที่ผ่านมาบรรพบุรุษของเราหาอาหารจากเครื่องไม้เครื่องมือที่ทำง่าย ๆ ไม่ทำร้ายธรรมชาติในลักษณะการล่า แต่สำหรับปัจจุบันนี้ไม่ใช่ ยกตัวอย่าง การทำประมงขนาดใหญ่เพื่อให้ได้ กุ้ง หอย ปู ปลา สาหร่าย มา เผาผลาญพลังงานมาก เรือวิ่ง 1 ชั่วโมง ใช้น้ำมัน 100 ลิตร สร้างคาร์บอนมากมายในอุตสาหกรรมประมง

2) กระบวนการขนส่งและการปรุงในอดีตเรากินอาหารที่มีอยู่ในพื้นบ้านพื้นถิ่นของเรา แต่เมื่อการพัฒนาเกิดขึ้น การเดินทางง่ายขึ้นส่งผลให้การขนส่ง ผลิตในประเทศหนึ่งต้องขนส่งเป็นพันเป็นหมื่นกิโลเมตรเพื่อมากินอีกที่หนึ่ง การกินข้ามโลก เผาผลาญมหาศาลจนโลกร้อนได้รับผลกระทบไปหมด ถ้าไม่จำเป็นอย่ากินของที่ต้องผ่านการขนส่งมากจนเกินไป

 

 

นอกจากนี้ลักษณะการปรุงของยุคใหม่มีความซ้ำซ้อน อาหาร 1 จาน ต้องปรุง 7 หม้อ ตั้ง 7 เตา ปรุงแยกกันแล้วเอามารวมกันเป็นเมนูเดียว เป็นการเผาผลาญพลังงานมากเกินกว่าจะได้กินอาหารสักจาน

3) การแบ่งปันกันกินอย่างไม่ทั่วถึง มีการแก่งแย่งกันเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากร ที่ดิน เพื่อการเพาะปลูก ทำกสิกรรมมากิน เมื่อเกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร ทำให้เกิดความขัดแย้ง นำมาสู่ สงคราม ขนอาวุธไปแย่งน้ำมัน แย่งพลังงาน แย่งอาหาร นำไปสู่ปัญหามากมายทำให้โลกร้อนระอุ

อาจารย์ยักษ์บอกว่า เมื่อมีปัญหาที่รุนแรงมากขึ้น ทางออกของการแก้ปัญหาเหล่านี้ ได้รับมติเป็นเอกฉันทน์จากนักวิชาการเกษตรกรรมทั่วโลก โดยอาจารย์ยักษ์ได้ขยายความว่า “ตอนนี้องค์กรว่าด้วยอาหารและเกษตรโลกได้ออกนโยบายมาสนับสนุนให้เกิดการกินอย่างทั่วถึง โดยให้น้ำหนักกับเกษตรกรและประมงรายเล็ก หรือที่เรียกว่า Small Scale Farm ถ้าเกษตรกรรายเล็ก ๆ แข็งแรง เขาจะแจกกันกินทั้งหมู่บ้าน รัฐไม่จำเป็นต้องหางบประมาณมาเพื่อมาสนับสนุนเกษตรกร ทำให้ไม่มีใครอด

ประกอบกับผลจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิดที่เกิดขึ้น ทำให้นักวิชาการทั้งโลกยอมรับว่าระบบการผลิตอาหารที่ทำลายล้างโลกอยู่นี้ทำให้โลกร้อนขึ้น ดังนั้นจึงต้องสนับสนุนเอาจริงเอาจังกับผู้ผลิตรายเล็กไม่ว่าจะอยู่บนบกหรือในน้ำ เพราะมันเป็นทางรอดของมนุษยชาติและเป็นการแก้ปัญหาโลกร้อนไปด้วยพร้อมกัน

ยกตัวอย่างชาวประมงรายย่อย เขาจับปลา เขาไม่ได้จับแบบทำลายล้าง เขาจับแล้วเขาอนุรักษ์ลูกกุ้ง ลูกปลา เขาจึงอยู่กันมาได้ 5,000 ปี แต่พอเราเข้าสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรม การทำประมง ทำเกษตรกรรมขนาดใหญ่ ก็แทบไม่เหลืออะไรเลย ป่าหายหมด สุดท้ายเราจึงต้องมากินให้ป่ามันเกิด”

 

 

ทางด้าน “โจน จันได” ได้สะท้อนถึงปัญหาการกินของคนยุคใหม่ กินน้อยประเภทลงจากอดีตมาก จนกลายเป็นปัญหาความไม่ยั่งยืน ปัญหาโลกร้อน ปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้ ทั้งหมดนี้ล้วนสาเหตุมาจากการกิน

"ปัญหามาจากการเรียนโภชนาการที่บอกว่า ต้องกิน โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ คนจำนวนมากจึงกินกันแต่ เนื้อ นม ไข่ นานเข้าเกิดเป็นวัฒนธรรม กินแต่โปรตีน ไม่กังวลว่ากินเกลือแร่และวิตามินพอมั้ย”

นำไปสู่การกินน้อยชนิดลงไปเรื่อย ๆ คนไทยกินแต่ ไก่ ไข่ หมู เพราะรัฐบาลสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ผลิตสิ่งเหล่านี้ ที่โตมาด้วย ข้าวโพด และ มันสำปะหลัง

ชาวบ้านก็โค่นป่าหาพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ยิ่งคนกิน ไก่ ไข่ หมู มากขึ้นเท่าไร ป่าก็ยิ่งลดลง ๆ หน้าดิน หาย ธรรมชาติใช้เวลาเป็นร้อยปีเป็นพันปีกว่าจะสร้างได้ 1-2 นิ้ว แล้วเราก็โค่นป่า ไฟเผา หน้าดินหายไปเลย 1 นิ้ว”

พฤติกรรมการกินของคนที่น้อยชนิดลงไปเรื่อย ๆ จึงทำให้ระบบนิเวศพังทลายลง ความสมดุลสูญหายไป การกินน้อยชนิดแต่ปริมาณมากขึ้นทำให้ในร่างกายมีแต่ไก่ ไข่ หมู กับข้าว เราได้สารอาหารพวกนี้มากเกินความจำเป็น แต่เราขาดสารอาหารที่จำเป็นกับเรา สุขภาพก็แย่ลง คนเป็นโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากเชื้อโรคมากขึ้น เช่น มะเร็ง หัวใจ และอื่น ๆ

โจนบอกว่า เมื่อมองภาพรวมถึงได้เห็นว่าการกินทำให้เกิดผลกระทบมากมายบนโลกใบนี้ เราจะเริ่มเห็นสงครามเกิดบ่อยขึ้นรุนแรงขึ้น น้ำท่วม ฝนแล้ว พายุถล่ม โลกร้อน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกันหมด เพราะโลกนี้ทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด

“การกินน้อยชนิดลงไปเรื่อย ๆ จึงกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ของโลกทุกวันนี้ ยกตัวอย่างป่าฝนในอาร์เจนติน่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุด หดหายลงไปทุกปี เพราะเขาถางป่า เลี้ยงวัว แล้วส่งเนื้อวัวไปขายที่อเมริกา คนอเมริกันกินเนื้อวัวเยอะมาก แค่คนอเมริกันกินเนื้อวัวประเทศเดียว ป่าอาร์เจนติน่าก็หายหมดแล้ว” โจนกล่าว

โจนเล่าว่าเมื่อสมัยตัวเองยังเด็ก ๆ อยู่ บ้านนอกบ้านนากินปลาเป็น 200 ชนิดต่อปี กินผักมากกว่า 100 ชนิดต่อปี ปัจจุบันเหลือแค่ปลาดุก ปลานิล และปลาทับทิม 3 อย่างนี้ เลี้ยงด้วยข้าวโพดเป็นหลักและปลาเล็กปลาน้อยผสมนิดหน่อย”

หากย้อนกลับไปสู่ต้นตอของปัญหานั่นก็คือกระบวนการผลิตที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ดังที่ผู้ก่อตั้งสวนพันพรรณฉายให้เห็นภาพที่ชัดเจนกว่าเดิมถึงต้นทุนในอุตสาหกรรมอาหารที่ไม่มีใครพูดถึง

“คนทั่วไปจะคิดว่าอาหารมีราคาเท่าไหร่ ไก่กิโลละเท่าไหร่ คนผลิตคิดว่าลงทุนไปเท่าไหร่ แต่การผลิตอาหารเหล่านี้มีต้นทุนซ่อนเร้นอยู่ มีชาวบ้านจำนวนมากต้องไปถางป่าเพื่อปลูกข้าวโพด ถ้าคนเหล่านั้นถูกกรมป่าไม้จับ ไม่มีใครไปช่วยเขา ถ้าไม่ถูกจับเขาก็ฉีดยาฆ่าหญ้าใส่ปุ๋ยแล้วก็เป็นโรคจากยาฆ่าหญ้าตาย ปลูกเสร็จแล้วก็ขายราคาต่ำกว่าทุนอีก เพราะราคาตลาดมันอยู่แค่นั้น นั่นคือต้นทุนที่เรามองข้าม และสร้างหายนะต่าง ๆ ทุกวันนี้ พฤติกรรมการกินของคนไทยที่น้อยชนิดลงไปเรื่อย ๆ นี้ทำให้พื้นที่ป่าหายไปจนเหลือไม่ถึง 15 เปอร์เซ็นต์แล้ว สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือการกินที่ผิดปกติของเราที่เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาความไม่ยั่งยืนบนโลกนี้” โจน จันได อธิบาย

 

 

โจนบอกว่าปัญหาเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจอย่างมากในการสร้างแบรนด์ “ยักษ์กะโจน” ที่เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้ขาย และร้านอาหารเกษตรอินทรีย์ที่เริ่มกระจายให้เห็นในกรุงเทพฯ ซึ่งทั้งสองผู้ร่วมก่อตั้งยืนยันว่าการกินอาหารภายใต้แนวคิดและการผลิตแบบยักษ์กะโจนจะสามารถช่วยสร้างป่าและลดโลกร้อนได้จริง

อาจารย์ยักษ์ได้อธิบายให้เห็นภาพโดยยกตัวอย่างจากอาหารที่ขายในร้านว่า “เริ่มตั้งแต่ข้าว ข้าวของเรามาจากเกษตรกรรายเล็กที่ผ่านการอบรมของเรา เงื่อนไขที่ 1 คือ ไม่ฆ่าหญ้า ไม่ละเมิดศีลข้อที่ 1 เพราะยาฆ่าหญ้ากว่าจะได้มาก็ต้องเจาะพื้นโลก ขุดเอาน้ำมันขึ้นมาสกัดสร้างเป็นยาฆ่าหญ้า เงื่อนไขต่อมาคือไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมี เพราะกว่าจะได้ปุ๋ยมาก็เหมือนยาฆ่าหญ้า ต้องเจาะพื้นโลกเอาน้ำมันมากลั่น มีรายละเอียดเยอะแยะกว่าจะได้ปุ๋ยขึ้นมา สมาชิกของเราต้องไม่ใช้กระบวนการผลิตที่ไปทำลายโลก

ส่วนปุ๋ยของเราได้มาจากการหมักใบไม้ ใบไม้ก็มาจากต้นไม้ที่เราปลูกรอบบ้าน เราปลูกป่ารอบบ้าน กระบวนการนี้ทำให้ดินสมบูรณ์ ดินฟู มีความหลากหลาย มีจุลินทรีย์ ต้นไม้ก็มีความหลากหลายในพื้นที่เดียวกัน ช่วยเก็บคาร์บอนไว้ในต้นไม้ เก็บในดิน ลองเอาเทอร์โมมิเตอร์ไปวัดจะรู้เลยว่าสวนแบบเราเย็นกว่าไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด 5-10 องศาเซลเซียส สามารถลองวัดได้เลย ว่าเราช่วยทำให้โลกเย็นได้จริง ๆ”

โจน จันได กล่าวเสริมว่า ไม่ต้องกินอาหารของยักษ์กะโจนก็ได้ ขอแค่กินอาหารอินทรีย์ก็ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนสิ่งแวดล้อมแล้ว “ทันทีที่คุณกินอาหารเกษตรอินทรีย์เข้าไป นั่นหมายความว่าคุณได้ช่วยสร้างป่าแล้ว และนั่นคือการให้ชีวิตและการให้ชีวิตสำคัญกว่าการให้ทุกอย่างบนโลกนี้ การกินจึงมีความสำคัญมาก ทุกครั้งที่กินอะไรเข้าไป เราควรรู้ที่มาว่าอาหารที่เรากินมาจากไหน ปลูกยังไง ขนส่งยังไง ทุกวันนี้คนจำนวนมากไม่รู้ที่มาว่าตัวเองกินคืออะไร กินแล้วเจ็บป่วย แล้วก็ทำลายทุกอย่าง”

“เราต้องการให้ดินกลับมามีชีวิต ให้น้ำกลับมาใส พืชพรรณกลับมาหลากหลาย ถ้าเราสนับสนุนการกินแบบนี้เกษตรกรก็จะหันมาทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น อาหารก็จะหลากหลายมากขึ้น และมันก็กลับมาดีที่ตัวเราเองผมเองเป็นเกษตรกร ผมคาดหวังว่าวันหนึ่งผมอยากเห็นเกษตรกรอยู่ได้จริง ผมอยากจะเห็นคนธรรมดาลุกขึ้นมาทำอะไรซักอย่างเพื่อแก้ปัญหา เป้าหมายหลักของธรรมธุรกิจคือเราต้องการแก้ปัญหา ปัญหาที่คนปลูกอยู่ไม่ได้ เกษตรกรลดจำนวนลงทั่วโลก คนกินก็กินขยะเป็นอาหาร พวกเราจึงอยากทำตรงนี้ เพราะเราหวังว่าลูกหลานเราจะมีอาหารดี ๆ มีแผ่นดินสบาย ๆ อยู่อาศัย มีร่มเงาเย็น ๆ ให้ได้พัก เราอยากทำให้โลกน่าอยู่ คนมีความสุขมากกว่าทุกวันนี้” โจน กล่าวทิ้งท้าย

ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ทั้งสองคาดหวังไม่ใช่กำไรทางธุรกิจมหาศาล แต่คือการสร้างโลกที่น่าอยู่ สร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้เกษตรกรรุ่นหลัง ส่วนผู้บริโภคก็ได้กินอาหารคุณภาพดีและอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ม.มหิดล สร้างชุมชนแข็งแกร่ง ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าภายใต้โครงการ “วันเฮลท์มหิดลนครสวรรค์”
https://www.thaiquote.org/content/248255

เอ็กโก กรุ๊ป เร่งขับเคลื่อนองค์กรในทุกมิติให้พร้อมตอบสนองต่อการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงาน
https://www.thaiquote.org/content/248251

ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัญหา Climate Change หรือไม่ สภาพดินฟ้าอากาศจะเปลี่ยนไปอย่างไร
https://www.thaiquote.org/content/247988