อู่ตะเภาและเมืองการบินเคาะฤกษ์สร้างปี 67 ใช้งานได้ในปี 70 หลังทร.เปิดประมูลรันเวย์ 2 พ.ค.

by ThaiQuote, 3 พฤษภาคม 2566

UTA คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 67 เฟสแรก ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี จากนั้นมีการทดสอบระบบด้วยคาดว่าเปิดให้บริการได้ในปี 70

 

นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่นจำกัด (UTA)เปิดเผยว่า แผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เมืองการบิน อยู่ระหว่างการปรับให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 โดยจะเพิ่มเฟสการพัฒนาจาก 4 เฟส เป็น 6 เฟส โดยปรับเฟสแรกจากรองรับที่ 15 ล้านคนต่อปี ลดเหลือเป็น 12 ล้านคนต่อปี และเมื่อมีจำนวนผู้โดยสารถึงระดับ 80% ของขีดการรองรับที่กำหนดไว้ ก็จะเริ่มก่อสร้างเฟส 2 ซึ่งจะหารือกับทางอีอีซีและที่ปรึกษา

ตามแผนงานการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน แบ่งเป็น 3 ส่วน โดยส่วนแรก ประกอบด้วย 3 เรื่องได้แก่ 1.การบินและผู้โดยสาร และองค์ประกอบของสนามบิน 2.Airport City โดยมีแนวคิด การพัฒนาเพื่เป็นศูนย์กลาง ด้านธุรกิจ ที่อยู่อาศัยสันทนาการ การท่องเที่ยว 3.ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์(Cargo Logistic Center) เพื่อตอบโจทย์การขนส่งสินค้าในภูมิภาคโดยเป็นศูนย์รวมและกระจายของขนส่ง 4 โหมดครบวงจร ทั้ง ทางอากาศ ทางราง ทางถนน และทางน้ำ หรือ Multimodel Transport

ส่วนที่สอง เป็นการเตรียมความพร้อมด้านการก่อสร้างและด้าน Operation ซึ่งที่ผ่านมา UTA ได้ออกแบบเพื่อเตรียมก่อสร้าง และวางคอนเซปต์ด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยประสานกับ อีอีซี กองทัพเรือ เพื่อจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) ให้เรียบร้อย รวมถึงแนวคิดการพัฒนาทางธุรกิจที่จะก่อสร้างเมืองการบินใน 1-2 ปีนี้ แต่ตอบโจทย์ใน 5-10 ปีข้างหน้า เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังได้เตรียมการด้าน Operation จัดเตรียมด้านบุคลากรในการให้บริการสนามบิน

ส่วนที่สาม เป็นความร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งอีอีซี กองทัพเรือ และ ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาสนามบิน เพื่อหาแนวทางการพัฒนาที่จะทำให้มีจำนวนผู้โดยสารกลับมาเท่าหรือเพิ่มมากกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องร่วมกัน โดย UTA ได้มีการว่าจ้างที่ปรึกษาผู้บริหารสนามบินระดับโลก 3 ราย ประกอบด้วย

1.นาริตะ อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต ประเทศญี่ปุ่น ดูแลด้านการบริหารจัดการสนามบินและการให้บริการดูแลลูกค้าในสนามบินเพราะเห็นว่า ความเป็นคนญี่ปุ่นมีความละเอียดอ่อน จะให้คำแนะนำในการดูแลผู้โดยสารและลูกค้าได้ดี

2.มิวนิค อินเตอร์เนชั่นแนลแอร์พอร์ต ประเทศเยอรมนี ช่วยด้านการวางผังพัฒนาสนามบิน เพื่อให้การก่อสร้าง มีการเชื่อมกันและไม่กระทบต่อการให้บริการ

3.ฮ่องกง อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต ดูแล ด้านคาร์โก้ โลจิสติกส์ซึ่ง สนามบินฮ่องกง ถือเป็นเกตุเวย์ และเชี่ยวชาญด้าน มีการขนส่งสินค้าทางอากาศ เชื่อมขนส่งทางทะเล และฮ่องกง จะมีส่วนช่วยในการทำตลาดสู่ประเทศจีน ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มปริมาณการขนส่งของสนามบินอู่ตะเภาได้

อนึ่ง UTA ประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) , บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และบมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC)

นายธาริศร์ อิสสระยั่งยืน รองเลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ด้านโครงสร้างพื้นฐาน กล่าวว่า ในสัญญา UTA กำหนดเงื่อนไขออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน NTP มี 5 ข้อ คือ 1. มอเตอร์เวย์ M7 เชื่อมสนามบิน ครม.อนุมัติแล้ว กรมทางหลวงเตรียมก่อสร้าง 2.ระบบไฟฟ้าประปา สาธารณูปโภค อีอีซีรับผิดชอบ ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้ว 3. การรื้อย้าย อยู่ระหว่างตรวจสอบเพื่อส่งมอบพื้นที่ 4.กองทัพเรือประกาศประกวดราคาก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 ในเดือน พ.ค.นี้ 5.การทำแผนก่อสร้างร่วมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อการวางตำแหน่งและบริหารสถานีรถไฟที่เชื่อมต่อและสอดคล้องกับอาคารผู้โดยสารรวมถึง ทำแผนตารางเดินรถไฟให้สอดคล้องกับสนามบินหารือใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว คาดว่าจะออก NTP เพื่อให้เริ่มก่อสร้างในปี 67

พลเรือโท สมประสงค์ วิศลดิลกพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพเรือพิเศษ กองทัพเรือ กล่าวว่า กองทัพเรือรับผิดชอบงาน 2 ส่วนคือ ก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 2 และทางขับ (แท็กซี่เวย์) มีกรอบวงเงิน 17,768 ล้านบาท โดยมีการอนุมัติงบเพื่อดำเนินการถมดินปรับพื้นที่จำนวน 1,274.24 ล้านบาทแล้ว ปัจจุบันดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ

ส่วนงานก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 2 และทางขับ กรอบวงเงิน 16,493.76 ล้านบาทนั้น มีการปรับเปลี่ยนแหล่งเงินจากงบประมาณเป็นเงินกู้จากธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (AIIB) แหล่งเงินมีเงื่อนไขในการจัดทำทีโออาร์ การออกประกาศ จึงต้องมีการเจรจาตกลงกัน เช่น คุณสมบัติและผลงานการก่อสร้างสนามบินย้อนหลัง 5 ปี ของผู้ยื่นข้อเสนอ ซึ่งเงื่อนไขเดิมผู้รับเหมาไทยไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้เลย ใช้เวลา 4 เดือนจึงได้ข้อยุติ เป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศให้มากที่สุด ทำให้มีความล่าช้า

ตามแผนการประกวดราคา วันที่ 15 มี.ค. 66 ได้เผยแพร่ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง (General Procurement Notice), เดือน พ.ค. 66 ประกาศทีโออาร์ประกวดราคา, เดือน พ.ย. 66 ประกาศผลการจัดซื้อจัดจ้าง และเดือน ธ.ค. 66 ลงนามสัญญากับผู้ได้รับการคัดเลือกและเริ่มก่อสร้างต้นปี 67 โดยตั้งเป้าก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 70.

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ผู้ประท้วงในวันแรงงานปะทะกับตำรวจในฝรั่งเศส ขณะที่คนงานประท้วงร่างกฎหมายของมาครงที่เพิ่มอายุเกษียณ
https://www.thaiquote.org/content/250125

สิงคโปร์ขึ้นภาษีสองเท่าสำหรับการซื้อบ้านของชาวต่างชาติ
https://www.thaiquote.org/content/250107

‘บอทโรคข้าว’ แชตบอตวินิจฉัยโรคเพื่อยับยั้งปัญหาอย่างทันท่วงที
https://www.thaiquote.org/content/250124